ทล.กางแผน PPP มอเตอร์เวย์ 2 สาย “ศรีนครินทร์-สุวรรณภูมิ” และ “บางขุนเทียน-บางบัวทอง” มูลค่ารวมกว่า 1 แสนล้าน จัด Market Sounding ฟังเสียงนักลงทุน คาดเปิดประมูลปี 65 เปิดบริการปี 69 แก้รถติดถนนวงแหวนฯ ตะวันตก
วันนี้ (7 ต.ค.) นายสิทธิชัย บุญสะอาด วิศวกรใหญ่ด้านวางแผนและวางโครงการก่อสร้าง กรมทางหลวง (ทล.) เป็นประธานเปิดสัมมนาประเมินความสนใจของภาคเอกชน (Market Sounding) เพื่อระดมความเห็นและข้อเสนอแนะจากภาคเอกชนในการพิจารณารูปแบบการร่วมลงทุน โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 ส่วนต่อขยายทางยกระดับช่วงศรีนครินทร์-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายวงแหวนกาญจนาภิเษกด้านตะวันตก ช่วงบางขุนเทียน-บางบัวทอง โดยมีตัวแทนจากภาคธุรกิจเอกชน กลุ่มสถาบันการเงิน กลุ่มนักลงทุน หน่วยงานภาครัฐ และหอการค้าในและต่างประเทศร่วมรับฟังข้อมูล ซึ่งทั้ง 2 โครงการอยู่ภายใต้แผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579)
นายปิยพงษ์ จิวัฒนกุลไพศาล ผู้อำนวยการกองทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง กรมทางหลวง กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของทั้ง 2 โครงการต้องการแก้ปัญหาจราจรติดขัดถนนด้านล่าง จึงจะก่อสร้างเป็นทางยกระดับรูปแบบมอเตอร์เวย์ มีการควบคุมการเข้า-ออกแบบสมบูรณ์เพื่อเป็นทางเลือกของประชาชน โดยเบื้องต้นจะเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนในการก่อสร้างและบริหารโครงการ (PPP) โดยทั้ง 2 โครงการจะสรุปผลการศึกษา ประเมินความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของเอกชนได้ภายในปี 2563 และในปี 2564 เป็นขั้นตอนการนำเสนอกระทรวงคมนาคม, คณะกรรมการ PPP และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขออนุมัติ และเปิดประมูลปี 2565 ซึ่งจะดำเนินการเรื่องเวนคืนที่ดินคู่ขนาน เพื่อให้สามารถก่อสร้างได้ในปี 2566-2569 และเปิดใช้ปี 2570 โดยจะใช้เวลาออกแบบก่อสร้าง 4 ปี และให้เอกชนร่วมลงทุนดำเนินงานและบำรุงรักษา 30 ปี
โครงการมอเตอร์เวย์ต่อขยาย ช่วงศรีนครินทร์-ท่าอากาศยานสุวรณภูมิ เริ่มต้นจากจุดเชื่อมต่อทางพิเศษศรีรัช บริเวณทางแยกต่างระดับศรีนครินทร์) สิ้นสุดที่มอเตอร์เวย สาย 7 กม.18+000 บริเวณลาดกระบัง ระยะทางรวม 18.50 กม. เป็นทางยกระดับตามแนวมอเตอร์เวย์สาย 7 ขนาด 6 ช่องจราจร (ไป/กลับ) มีจุดขึ้น-ลง/จุดเชื่อมต่อ และด่านเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทาง จำนวน 3 แห่ง มูลค่าโครงการ 35,685 ล้านบาท แบ่งเป็น 1. ค่าลงทุน 27,322 ล้านบาท (ค่าเวนคืน และชดเชยทรัพย์สิน 820 ล้านบาท ค่างานโยธา 25,582 ล้านบาท ค่างานระบบ 782 ล้านบาท, ค่าลงทุนตั้งต้น 138 ล้านบาท) 2. ค่าดำเนินงานและบำรุงรักษา 8,363 ล้านบาท ตลอด 30 ปี (ค่าดำเนินงาน 4,475 ล้านบาท, ค่าบำรุงรักษา 3,888 ล้านบาท)
ขณะนี้รายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) คาดการณ์ปริมาณจราจรในปีเปิดที่ 59,640 คัน/วัน และปีที่ 30 เพิ่มเป็น 125,790 คัน/วัน กำหนดค่าผ่านทางเริ่มต้น 10 บาท และบวก กม.ละ 1.50 บาท หรือประมาณ 40 บาทตลอดสายสำหรับรถ 4 ล้อ ปรับค่าผ่านทางทุก 5 ปี ตามดัชนีผู้บริโภค (CPI)
สำหรับโครงการมอเตอร์เวย์ สายวงแหวนกาญจนาภิเษกด้านตะวันตก ช่วงบางขุนเทียน-บางบัวทอง เริ่มต้นที่บริเวณทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน จุดตัดระหว่างถนนกาญจนาภิเษก และถนนพระราม 2 สิ้นสุด ที่บริเวณทางแยกต่างระดับบางบัวทอง ระยะทาง 38 กม. เป็นทางยกระดับตามแนวมอเตอร์เวย์ สาย 9 ขนาด 6 ช่องจราจร (ไป/กลับ) มีทางขึ้น-ลงจำนวน 9 จุด และเชื่อมต่อกับโครงข่ายมอเตอร์เวย์อื่นๆ 4 จุด
ได้แก่ 1. เชื่อมต่อกับมอเตอร์เวย์สาย 9 ด้านทิศใต้ และมอเตอร์เวย์ (M82) สายบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว และทางด่วนสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกฯ ที่ทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน 2. เชื่อมต่อทางยกระดับบนถนนบรมราชชนนี 3. เชื่อมต่อทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอกฯ 4. เชื่อมต่อกับ มอเตอร์เวย์ (M81) สายบางใหญ่-กาญจนบุรี ที่ทางแยกต่างระดับบางใหญ่
มีมูลค่าโครงการ 64,848 ล้านบาท แบ่งเป็น 1. ค่าลงทุน 51,601 ล้านบาท (ค่าเวนคืน และชดเชยทรัพย์สิน 4,234 ล้านบาท ค่างานโยธา 45,498 ล้านบาท ค่างานระบบ 1,577 ล้านบาท, ค่าลงทุนระยะสั้น 292 ล้านบาท) 2. ค่าดำเนินงานและบำรุงรักษา 13,247 ล้านบาท ตลอด 30 ปี (ค่าดำเนินงาน 5,135 ล้านบาท, ค่าบำรุงรักษา 8,112 ล้านบาท)
คาดการณ์ปริมาณจราจรในปีเปิดบริการที่ 184,736 คัน/วัน โดยกำหนดค่าผ่านทางเริ่มต้น 10 บาท และบวก กม.ต่อไป กม. ละ 1.50 บาท หรือประมาณ 70 สาย สำหรับรถ 4 ล้อ ปรับค่าผ่านทางทุก 5 ปี ตามดัชนีผู้บริโภค (CPI) ส่วนรายงาน EIA นั้นจะมีการศึกษาในปี 2564 วงเงินดำเนินการ 20 ล้านบาท
สำหรับรูปแบบการร่วมลงทุนนั้นมีแนวโน้มจะใช้ PPP-Net Cost เพื่อลดภาระและความเสี่ยงของภาครัฐ โดยรัฐรับภาระค่าเวนคืน และเอกชนลงทุนงานระบบ รวมถึงบริหารและซ่อมบำรุงตลอดสัมปทาน รวมถึงก่อสร้างงานโยธาด้วย