ส.อ.ท.เกาะติดปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจโค้งสุดท้ายปี 2563 หรือไตรมาส 4 กังวลการกลับมาระบาดโควิด-19 รอบ 2 การสิ้นสุดมาตรการพักชำระหนี้ของ ธปท. และปัญหาการเมืองทั้งม็อบและลุ้นแต่งตั้ง รมว.คลังคนใหม่ที่มีผลต่อความเชื่อมั่นและการฟื้นตัวของ ศก.
นายเกรียงไกร เธียรนุกูล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ส.อ.ท.กำลังติดตามปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยไตรมาสสุดท้ายของปี 2563 ซึ่งยังคงมีความเปราะบางจากความกังวลใน 3 ปัจจัยที่สำคัญ ได้แก่ การกลับมาระบาดไวรัสโควิดรอบ 2, การสิ้นสุดมาตรการการพักชำระหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และ 3. ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเมือง ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนมีผลต่อความเชื่อมั่นและกระทบต่อเศรษฐกิจภาพรวม
สำหรับปัจจัยที่กังวลต่อการกลับมาระบาดโควิดรอบ 2 ที่ถือเป็นความท้าทายให้ไทยต้องควบคุมอย่างเข้มงวดเนื่องจากการที่ไทยเริ่มเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาพำนักที่ไทยได้ในระยะยาวแบบจำกัดจำนวนโดยต้องเป็นนักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ หรือสเปเชียล ทัวริสต์ วีซ่า (เอสทีวี) ตั้งแต่ ต.ค.นี้ ก่อนที่จะค่อยๆ ทยอยปลดล็อกมากขึ้น รวมไปถึงการที่ประเทศเพื่อนบ้านหลายแห่งโดยเฉพาะพม่าที่เกี่ยวข้องกับแรงงานกับไทยโดยตรง เหล่านี้ล้วนต้องติดตามใกล้ชิด เพราะหากพลาดโอกาสกลับมาระบาดรอบ 2 ก็มีได้เช่นกันเพราะหลายประเทศก็ประสบปัญหาอยู่จึงเป็นสิ่งที่เอกชนกังวลมากสุด
ประเด็นที่ 2 คือการสิ้นสุดมาตรการพักชำระหนี้ของ ธปท. ช่วง ก.ย.-ต.ค.นี้ที่เอกชนมองว่ามีแนวโน้มที่รัฐจะไม่ขยายมาตรการออกไปและยังไม่เห็นถึงมาตรการอื่นๆ ที่จะเข้ามาดูแทน ซึ่งในที่นี้มีจำนวนลูกหนี้รายย่อยและลูกหนี้ธุรกิจที่รับความช่วยเหลือจากมาตรการดังกล่าวรวมถึง 12.5 ล้านบัญชี คิดเป็นยอดหนี้กว่า 7 ล้านล้านบาท ก็ต้องติดตามว่าจะมีลูกหนี้ที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้อีกต่อไปมากน้อยเพียงใดหากเพียง 10-20% ของหนี้ก็คงไม่กระทบนัก แต่หากมากกว่านี้อาจจะกระทบเป็นลูกโซ่และจะลามไปยังปี 2564
ประเด็นสุดท้ายคือ ปัญหาการเมืองในไทยที่ยังมีความไม่แน่นอนทั้งภายในและนอกสภา โดยเฉพาะความเคลื่อนไหวการชุมนุมในเดือน ต.ค.ที่หลายฝ่ายกำลังติดตามใกล้ชิด หากไม่มีความรุนแรงและอยู่ภายใต้กรอบกฎหมายก็คงจะไม่กระทบมาก อย่างไรก็ตาม การเมืองนี้ยังรวมถึงการแต่งตั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ว่าจะเป็นใคร หากเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถ เป็นที่ยอมรับของคนส่วนใหญ่ก็จะช่วยฟื้นความเชื่อมั่นมากขึ้น
นายเกรียงไกรกล่าวว่า จากการที่ภาครัฐได้อัดมาตรการฟื้นเศรษฐกิจช่วงโค้งสุดท้ายของปีนี้หลายมาตรการเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องดำเนินการ แต่บางมาตรการจะตอบโจทย์หรือไม่คงต้องติดตามเช่นเดียวกับมาตรการแก้ไขปัญหาการว่างงาน ที่ล่าสุดรัฐได้จัดงาน JOB EXPO THAILAND 2020 หาตำแหน่งว่างงาน 1 ล้านตำแหน่งรองรับควบคู่ไปกับโครงการ Co-payment (จ้างงานเด็กจบใหม่) “รัฐช่วยเสริม เอกชนช่วยสร้าง” ที่รัฐจะจ่ายเงินคนละครึ่งกับเอกชน โดยประเด็นที่ต้องติดตามคือมาตรการนี้จะช่วยทำให้การจ้างงานเพิ่มขึ้นหรือไม่อย่างไร
“อย่าลืมว่าการจ้างคนงานเพิ่มนั้นมีเพียงไม่กี่อุตสาหกรรมที่ได้รับอานิสงส์จากโควิด -19 แต่ภาพรวมคือแรงงานที่มีเกินความต้องการแค่รักษาไม่ลดคนก็ถือว่าเก่งแล้ว การที่เอกชนจะไปจ่ายเพื่อดึงมาเพิ่มนั้นไปตอบโจทย์ของการเอาคนเก่าออกที่เงินเดือนสูงแล้วรับเด็กใหม่ที่ต้นทุนต่ำด้วยหรือไม่ ถ้าแบบนี้คงไม่ดีแน่ ซึ่งยังเร็วเกินไปที่จะตอบว่าจะฟื้นจ้างงานมากน้อยเพียงใดแต่อย่างน้อยก็กระตุ้นให้เกิดการรับเด็กจบใหม่ ซึ่งปัญหาที่น่ากังวลไม่น้อยไปกว่าการว่างงานคือการศึกษาไม่ตอบโจทย์ตลาดแรงงานที่เปลี่ยนไป ทำให้มหาวิทยาลัยมีผู้ที่เข้ามาเรียนน้อยอยู่แล้วจากจำนวนคนที่ลดต่ำก็น้อยไปอีก” นายเกรียงไกรกล่าว