เอกชนมองปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจที่เหลือของปีนี้ยังคงมีอยู่เพียบทั้งโควิด-19 ทั่วโลกติดเชื้อพุ่ง แถมบางที่ระบาดรอบสอง เทรดวอร์ส่อปะทุเพิ่ม ล้วนฉุดส่งออกไทย ขณะที่ท่องเที่ยวสิ้นปีคงเปิดรับต่างชาติได้ยาก การเมืองยังกดดันทั้งเปลี่ยนม้ากลางศึกรอทีม ศก.ใหม่ ม็อบนักศึกษาผุด วิกฤตศรัทธากระบวนการยุติธรรมบั่นทอนเชื่อมั่นลงทุน ลุ้นทีม ศก.ใหม่เร่งแก้ก่อนธุรกิจอั้นไม่หยุดปลดคนเพิ่มต่อเนื่อง
นายเกรียงไกร เธียรนุกูล รองประธานและประธานคณะอนุกรรมการฟื้นฟู หลังไวรัสโควิด-19 สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยช่วงที่เหลืออีก 5 เดือนนั้นยอมรับว่ายังคงได้รับแรงกดดันในเชิงลบหลายด้านซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่ไม่อาจจะรักษาระดับการจ้างงานเอาไว้ได้ แนวโน้มการเลิกจ้างอาจมีสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) ดังนั้นจึงต้องรอให้ทีมเศรษฐกิจใหม่เข้ามาเร่งแก้ไขปัญหาต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือเป็นสำคัญ
ทั้งนี้ แม้ว่าไทยจะมีการผ่อนคลายล็อกดาวน์มาเป็นลำดับจนกิจกรรมต่างๆ เริ่มกลับมาดำเนินงานได้ปกติซึ่งหลายฝ่ายคาดว่าเศรษฐกิจน่าจะค่อยๆ ฟื้นตัวในครึ่งปีหลัง แต่สถานการณ์ปัจจุบันกลับพบว่ายังไม่ดีขึ้นนักด้วยปัจจัยหลักๆ ที่สำคัญ ได้แก่ 1. เศรษฐกิจโลกยังชะลอตัวจากโควิด-19 ที่ทั่วโลกยังคงมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ล่าสุดวันที่ 4 ส.ค.ติดเชื้อทั่วโลกกว่า 18.4 ล้านราย ขณะที่บางประเทศกลับมาระบาดรอบสอง เช่น ญี่ปุ่น เวียดนาม และจีน ประกอบกับความขัดแย้งทางการค้าสหรัฐฯ และจีน หรือเทรดวอร์ เริ่มกลับมาปะทุอีกครั้งและอาจนำไปสุ่ความรุนแรงขึ้นได้ สิ่งเหล่านี้ย่อมกระทบต่อการส่งออกของไทยในภาพรวมที่หลายฝ่ายต่างคาดการณ์ว่าปีนี้ส่งออกไทยจะโตเฉลี่ย -8 ถึง -10% ยังคงดำรงอยู่
2. การท่องเที่ยวไทย ที่เป็นอีกกลไกหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เดิมต่างคาดหวังว่าไตรมาส 4 ไทยจะเปิดรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศได้เพิ่ม แต่หากดูสถานการณ์ล่าสุดที่คนไทยติดเชื้อกลับมาจากต่างชาติและยังคงมีความหวาดระแวง ดังนั้น ปลายปีนี้การท่องเที่ยวคงไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้น ธุรกิจท่องเที่ยวและที่เกี่ยวเนื่องคงไม่อาจฟื้นตัวได้มากนัก
3. ปัจจัยการเมืองไทย ที่ขณะนี้นักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติเริ่มชะลอเพื่อดูทิศทางทั้งการปรับเปลี่ยนคณะรัฐมนตรี (ครม.) เศรษฐกิจชุดใหม่ ที่เตรียมแต่งตั้งมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจว่าจะมีนโยบายหรือมาตรการดำเนินการอย่างไรบ้าง ขณะเดียวกัน ยังคงต้องติดตามใกล้ชิดถึงการเกิดขึ้นของม็อบนักศึกษาที่เริ่มขยายวงไปยังต่างจังหวัด รวมถึงกระบวนการยุติธรรมของไทยเกี่ยวกับคดีนายวรยุทธ อยู่วิทยา ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนบั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติซึ่งอาจส่งผลให้เวียดนามกลายเป็นประเทศที่นักลงทุนตัดสินใจไปลงทุนเพิ่มขึ้น
“รัฐบาลเปลี่ยนทีมเศรษฐกิจใหม่เหมือนเปลี่ยนม้ากลางศึก ทำให้เสียเวลาในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปพอสมควรและการมาของทีมใหม่เอกชนก็ต้องมาติดตามว่าจะดำเนินมาตรการใหม่ๆ หรือไม่ เพราะต้องยอมรับว่ามีมาตรการที่รอให้เร่งแก้ไขทั้งซอฟต์โลนของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) 5 แสนล้านบาท ปล่อยได้แค่ 1 แสนล้านเท่านั้น เพราะธนาคารพาณิชย์กลัวหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ โครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 4 แสนล้านบาทก็เงียบไป ควรต้องเร่งให้ออกมากระตุ้นเศรษฐกิจช่วงที่เหลือให้ตรงจุด และ ต.ค.นี้ ธุรกิจจะครบกำหนดยืดชำระหนี้ หากไม่มีมาตรการมาดูแลเพิ่มเติมก็จะกระทบเป็นวงกว้างแน่” นายเกรียงไกรกล่าว