กรมการค้าต่างประเทศเดินหน้าป้องกันสินค้าจากประเทศอื่นมาแอบอ้างเป็นสินค้าไทยแล้วส่งออก โดยการใช้สิทธิ FTA, GSP หนีการขึ้นภาษีเทรดวอร์ และการถูกเก็บ AD/CVD จับตา 6 กลุ่มสินค้า 222 รายการ เผยจับไปแล้ว 3 สินค้า น้ำผึ้ง สปริงในฟูก และอะลูมิเนียมฟอยล์ ลั่นเดินหน้าร่วมมือเอกชน หน่วยงานรัฐของคู่ค้าตามสกัดต่อ หลีกเลี่ยงการถูกแบน โชว์ผลงาน 9 เดือนดันส่งออกสินค้ากลุ่มเฝ้าระวังได้ 13,000 ล้านเหรียญ
นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ตรวจสอบการแอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้าเพื่อการส่งออกอย่างเข้มงวด หลังจากพบมีการแอบอ้างเพิ่มขึ้น โดยได้มีการติดตามและตรวจสอบสถิติการค้าสำหรับสินค้าเฝ้าระวังรวม 6 กลุ่ม หรือกว่า 222 รายการอย่างใกล้ชิด ได้แก่ 1. เครื่องจักรไฟฟ้า 2. เครื่องจักรกล 3. เฟอร์นิเจอร์ 4. พลาสติก 5. ยานยนต์ และ 6. สินค้าไม้และของที่ทำด้วยไม้ และยังได้เข้าไปตรวจสอบการผลิตแล้วจำนวน 14 รายการ จากผู้ประกอบการ 19 ราย ตรวจสอบพบ 3 สินค้า คือ น้ำผึ้ง สปริงในฟูก มีการแอบอ้างเป็นสินค้าไทยเพื่อทำการส่งออกไปยังสหรัฐฯ และอะลูมิเนียมฟอยล์ แอบอ้างเป็นสินค้าไทยส่งออกไปสหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งผู้นำเข้าได้ขึ้นบัญชีดำ และเก็บภาษีนำเข้าจากผู้นำเข้าเพิ่มพร้อมค่าปรับแล้ว และในส่วนของกรมฯ จะเฝ้าระวังและเพิ่มความเข้มงวดในการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (C/O) โดยกำหนดให้แสดงหลักฐาน เอกสารแหล่งที่มาของวัตถุดิบที่ในการผลิต หากไม่ถูกต้องก็ไม่ออกใบ C/O ให้
สำหรับการแอบอ้างเป็นสินค้าไทยเพื่อส่งออกพบหลายกรณี ทั้งการแอบอ้างเพื่อให้ได้สิทธิประโยชน์ทางการค้าที่ไทยได้รับภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) และภายใต้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) การแอบอ้างเพื่อหลบเลี่ยงการเสียภาษีที่เกิดขึ้นจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ที่สหรัฐฯ มีการเก็บภาษีนำเข้าจากจีนเพิ่มขึ้นกว่า 12,000 รายการ และหลีกเลี่ยงการชำระภาษี เพราะบางประเทศถูกคู่ค้าใช้มาตรการตอบโต้ทางการค้า เช่น การเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด (AD/CVD) อีก 344 รายการ จึงมาแอบอ้างเป็นสินค้าไทยเพื่อส่งออก เพราะไทยไม่ถูกเก็บ AD/CVD
“กรมฯ ได้ตรวจสอบพบมีการแอบอ้างหลายรูปแบบ ทั้งการนำเข้ามาดัดแปลงเพียงเล็กน้อย เอามาล้าง มาเช็ด เคลือบสี เปลี่ยนแพกเกจ ติดสติกเกอร์ ไม่ได้มีการผลิตเพิ่มเติม แล้วเอามาบอกว่าเป็นสินค้าไทย เพื่อให้ได้สิทธิพิเศษทางการค้า อย่างน้ำผึ้ง ปกติไทยส่งน้ำผึ้งแท้ 100% ไปสหรัฐฯ แต่รายที่เจอเอาไซรัปจากจีนมาผสม หรือสปริงในฟูก ก็เอาสปริงจากโรงงานจีน หรืออะลูมิเนียมฟอลย์ ก็แค่เอามารีดให้บางลงแล้วตัด ซึ่งจริงๆ ไม่เพียงพอที่จะได้ถิ่นกำเนิดสินค้า พอส่งออกไปก็ถูกผู้นำเข้าแจ้งมา กรมฯ ก็ไปตรวจ และจะเฝ้าระวังบริษัทพวกนี้อย่างเข้มงวดต่อไป เพราะถ้ายังมีปัญหาต่อเนื่องก็อาจจะถูกคู่ค้าแบนสินค้าไทยทั้งประเทศได้” นายกีรติกล่าว
นายกีรติกล่าวว่า กรมฯ ยังเดินหน้าป้องกันการแอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้ากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป โดยได้แจ้งรายการสินค้าเฝ้าระวังให้แก่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยเพื่อเพิ่มความเข้มงวดในการออก Form C/O รวมทั้งให้ความร่วมมือกับหน่วยงานประเทศผู้นำเข้า ได้แก่ ศุลกากรสหรัฐฯ (CBP) สำนักงานสืบสวนความมั่นคงแห่งมาตุภูมิสหรัฐฯ (HSI) หน่วยงานต่อต้านการฉ้อโกงของคณะกรรมาธิการยุโรป (OLAF) และศุลกากรเยอรมนี (ZKA) สำหรับการตรวจสอบสินค้าไปยังประเทศดังกล่าว
ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือน ม.ค.-ก.ย. 2563 ไทยสามารถส่งออกสินค้ากลุ่มเฝ้าระวังได้มูลค่ากว่า 13,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าจากการทำงานเชิงรุกในการป้องกันการแอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้าของกรมฯ ส่งผลให้ประเทศไทยได้รับความเชื่อถือและความมั่นใจจากประเทศคู่ค้าว่าสินค้าที่ส่งออกมาจากไทยเป็นสินค้าที่มีถิ่นกำเนิดไทยจริง รวมทั้งไม่มีการปลอมแปลง Form C/O หรือนำ Form C/O มาใช้แอบอ้างถิ่นกำเนิด และที่สำคัญ ประเทศคู่ค้าจะไม่กำหนดมาตรการทางการค้ากับไทย ซึ่งจะส่งผลดีต่อการเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันทางการค้าของไทยในตลาดโลกได้เพิ่มมากขึ้น