กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเดินหน้าศึกษาฟื้นเจรจา FTA ไทย-EFTA คาดแล้วเสร็จปลายปีนี้ พร้อมเปิดรับฟังความคิดเห็นก่อนเสนอระดับนโยบายตัดสินใจ เผยการทำ FTA จะช่วยไทยสู้คู่แข่งในอาเซียนและประเทศอื่นที่มี FTA กับ EFTA ได้ และช่วยแก้ปัญหาความไม่แน่นอนของการได้รับสิทธิ GSP
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยภายหลังการจัดสัมมนา “EFTA New Market in New Normal : การขยายตลาดใหม่รับชีวิตวิถีใหม่กับกลุ่มสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป” ว่า ขณะนี้กรมฯ ได้มอบให้สถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD) ศึกษาประโยชน์และผลกระทบจากการฟื้นการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (EFTA) ซึ่งกำหนดแล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้ และยังได้จัดรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน เพื่อประกอบการนำเสนอฝ่ายนโยบาย พิจารณา มีมติเกี่ยวกับการฟื้นการเจรจา FTA ไทย-EFTA ต่อไป
ทั้งนี้ การทำ FTA กับ EFTA จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าและบริการของไทยในตลาด EFTA ไม่ให้สูญเสียแก่ประเทศหลักๆ รวมทั้งประเทศอาเซียนที่มี FTA กับ EFTA แล้ว ได้แก่ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และประเทศอาเซียนที่อยู่ระหว่างการเจรจา ได้แก่ เวียดนาม และมาเลเซีย ส่วนประเทศอื่นๆ ที่ EFTA มี FTA ด้วย เช่น ฮ่องกง เกาหลีใต้ ชิลี เม็กซิโก และตุรกี เป็นต้น
ขณะเดียวกัน จะช่วยขจัดความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขในโครงการสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ของ EFTA ที่สวิตเซอร์แลนด์และนอร์เวย์ให้กับไทย เช่น สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม และสินค้าเกษตรและอาหารบางรายการ รวมถึงจะช่วยสร้างโอกาสในการลงทุนดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการไทยใน EFTA และดึงดูดการลงทุนของ EFTA ในไทย โดยเฉพาะในสาขาที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงที่ EFTA มีความเชี่ยวชาญ ซึ่งจะทำให้มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการพัฒนาขีดความสามารถของไทย
สำหรับการค้าร่วมระหว่างไทยกับ EFTA ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2558-2562) มีมูลค่าเฉลี่ยประมาณปีละ 9,892 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 8.6% ต่อปี โดยในปี 2562 การค้าร่วมไทย-EFTA มีมูลค่า 9,770.20 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 2.22% โดยไทยได้เปรียบดุลการค้า 1,570.18 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนการค้า 2.02% และที่ผ่านมาไทยและ EFTA มีการเจรจา FTA มาแล้ว 2 รอบ ในปี 2548-2549 แต่มาหยุดชะงักลง และล่าสุดทั้งสองฝ่ายแสดงความพร้อมเปิดการเจรจาอีกครั้ง