รฟท.เตรียมเปิดประกาศ TOR ประมูลรถไฟทางคู่ 2 สายใหม่ “เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ” และ “บ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม” ค่าก่อสร้างรวมกว่า 1.28 แสนล้าน ใน ต.ค.-พ.ย.นี้ พร้อมเร่งชง ครม.ออก พ.ร.ฎ.เวนคืน เปิดพื้นที่ก่อสร้างปี 64
นายสุชีพ สุขสว่าง วิศวกรใหญ่ฝ่ายโครงการพิเศษและก่อสร้าง การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ รฟท.จัดทำร่างเงื่อนไขการประกวดราคา (TOR) โครงการรถไฟทางคู่สายใหม “เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ” ระยะทาง 323 กม. กรอบวงเงิน 85,345 ล้านบาท ใกล้เสร็จแล้ว คาดว่าภายในเดือน ต.ค.นี้จะประกาศรับฟังความคิดเห็นร่างขอบเขตงาน (TOR) ประกวดราคาจ้างก่อสร้างด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน หากไม่มีประเด็นที่เป็นสาระสำคัญจะขายเอกสารประกวดราคาได้ในเดือน พ.ย. และให้เวลาจัดทำรายละเอียดข้อเสนอประมาณ 1 เดือน โดยคาดว่าจะได้ตัวผู้รับจ้างประมาณเดือน ก.พ.-มี.ค. 2564
ส่วนรถไฟทางคู่สายใหม่ “บ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม” ระยะทาง 355 กม. กรอบวงเงิน 66,848.33 ล้านบาท จะประกาศ TOR ได้ประมาณเดือน พ.ย. หรือหลังจากสายเด่นชัย-เชียงของประมาณ 1 เดือน ซึ่งตามขั้นตอน e-bidding หลังสรุปการประมูล รฟท.เสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท.อนุมัติเพื่อลงนามในสัญญากับผู้รับงาน
ในทางคู่ขนาน รฟท.ได้เสนอเรื่องไปยังกระทรวงคมนาคม เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขออนุมัติออกพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่จะเวนคืนทั้ง 2 สายทางเพื่อเข้าพื้นที่ได้ตามกฎหมาย และ รฟท.จะประสานแผนการส่งมอบพื้นที่กับผู้รับจ้างเพื่อออกหนังสือเริ่มงานก่อสร้าง หรือ NTP ต่อไป
สำหรับรถไฟทางคู่ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 323 กม. วงเงินรวม 85,345 ล้านบาท มี ค่าก่อสร้างงานโยธาระบบอาณัติสัญญาณอยู่ที่ 72,921 ล้านบาท ค่าที่ปรึกษา 1,764 ล้านบาท แบ่ง 3 สัญญา ได้แก่ 1. ช่วงเด่นชัย-งาว ระยะทาง 104 กม. วงเงิน 26,704 ล้านบาท 2. ช่วงงาว-เชียงราย ระยะทาง 135 กม. วงเงิน 28,735 ล้านบาท 3. ช่วงเชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 84 กม. วงเงิน 17,482 ล้านบาท
ค่าเวนคืนที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ 10,660 ล้านบาท จำนวน 7,292 แปลง ที่ดิน 9,661 ไร่ สิ่งปลูกสร้าง 1,200 หลังคาเรือนครอบคลุมพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ แพร่ ลำปาง พะเยา เชียงราย โดยมี 26 สถานี ลานขนถ่ายสินค้า 4 แห่ง ลานกองเก็บตู้สินค้า 1 แห่ง อุโมงค์รถไฟ 4 แห่ง ถนนยกข้ามทางรถไฟ 40 แห่ง และถนนลอดใต้ทางรถไฟ 102 แห่ง
ส่วนรถไฟทางคู่ สายบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม ระยะทาง 355 กม. มูลค่าโครงการ 66,848.33 ล้านบาท มีค่าก่อสร้างงานโยธาและระบบอาณัติสัญญาณ 55,462 ล้านบาท ค่าที่ปรึกษา 1,131 ล้านบาท แบ่งเป็น 2 สัญญา ช่วงบ้านไผ่-ร้อยเอ็ด และช่วงยโสธร-นครพนม
มีค่าเวนคืน 10,255.33 ล้านบาท (พื้นที่ 7,100 แปลง) หรือประมาณ 17,500 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่นมหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร มุกดาหาร นครพนม มี 30 สถานี 1 ชุมทาง ลานบรรทุกตู้สินค้า 3 แห่ง และย่านกองเก็บตู้สินค้า 3 แห่ง โดยมีระยะเวลาก่อสร้าง 48 เดือน กำหนดเปิดเดินรถในปี 2568