สภาองค์การนายจ้างหรืออีคอนไทยคาดปีนี้แรงงานจะตกงานเฉลี่ยสะสม 2 ล้านคนลดลงจากเดิม เหตุรัฐเริ่มคลอดมาตรการกระตุ้นจ้างงานโดยเฉพาะเด็กจบใหม่ มอง ศก.ไทยยังซึมยาวถึงต้นปีหน้า รัฐควรทำเป็นแพกเกจดูแลเป็นคลัสเตอร์ให้ตรงจุด เผยรูปแบบการจ้างงานเริ่มเปลี่ยนไปภายใต้ New Normal ทั้งอาชีพอิสระ การทำงานไม่เต็มเวลา โดยเฉพาะการทำงานที่บ้าน WFH ยังคงมาแรง ดังนั้นควรจ่ายค่าจ้างเป็นรายชั่วโมงเป็นอีกทางเลือก
นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้าง ผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) เปิดเผยว่า จากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อผู้ว่างงานทั้งระบบในปี 2563 สะสมประมาณ 2 ล้านคน โดยปรับลดลงจากก่อนหน้านี้ที่คาดว่าจะกระทบราว 3-4 ล้านคนเนื่องจากมีการทยอยกลับมาเปิดดำเนินการของธุรกิจต่างๆ ต่อเนื่อง ประกอบกับมาตรการส่งเสริมการจ้างงานล่าสุดของรัฐที่จะดำเนินโครงการจ้างนักศึกษาจบใหม่และอื่นๆ อีกราว 7 แสนคน อย่างไรก็ตาม มองว่าทิศทางเศรษฐกิจไทยจะยังคงถดถอยตามทิศทางเศรษฐกิจโลกที่อาจต่อเนื่องไปถึงไตรมาสแรกปี 2564 จึงเห็นว่าภาครัฐควรจะออกมาตรการเยียวยา รักษา และกระตุ้นเศรษฐกิจที่เป็นแพกเกจจะเกิดประสิทธิภาพมากกว่าการออกมาเป็นช่วงๆ เช่นปัจจุบัน
“เราต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยเราพึ่งพิงการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศค่อนข้างสูง ไม่ว่าจะเป็นท่องเที่ยว ส่งออก ลงทุนตรงจากต่างประเทศ แม้ว่าไทยจะคุมโควิด-19 แบบเอาอยู่แต่ประเทศอีกจำนวนมากของโลกเอาไม่อยู่ ซึ่งล้วนเป็นลูกค้าของเราทำให้เห็นว่าโควิด-19 จะยังอยู่ต่อแม้ว่าที่ผ่านมาเศรษฐกิจจะค่อยๆ ฟื้นตัวก็คือติดลบเหมือนจมน้ำแล้วค่อยๆ ลอยขึ้นแต่ยังไม่พ้นน้ำ มาตรการดูแลเศรษฐกิจทั้งระบบจึงต้องมองให้ต่อเนื่องและเป็นแพกเกจ แต่วันนี้รัฐคลอดมาตรการออกมาเป็นลักษณะคิดอะไรออกก็เอาออกมามากกว่าและเป็นการเหวี่ยงแห” นายธนิตกล่าว
ทั้งนี้ เห็นว่าการดูแลเศรษฐกิจและแรงงานควรแยกเป็นคลัสเตอร์หลักๆ เช่น ท่องเที่ยว ส่งออก แรงงาน ฯลฯ และแยกเป็นภายในประเทศ และต่างประเทศ โดยมีหัวหน้าทีมทำงานร่วมกันกับเอกชนเพราะต้องเข้าใจว่าแต่ละธุรกิจไม่อาจใช้มาตรการหรือแนวทางเดียวกันได้ทั้งหมด เมื่อเห็นภาพชัดเจนก็จะสามารถวางงบประมาณไว้ดูแลให้ต่อเนื่องเลยทันทีเพื่ออัดฉีดทั้งแรงซื้อ การรักษาระดับการจ้างงาน และการปรับธุรกิจ
“ผมยังยืนยันว่าตัวเลขอัตราการว่างงานของไทยไม่สะท้อนข้อเท็จจริง ซึ่งรัฐจำเป็นจะต้องทบทวนภาวะการมีงานทำและดัชนีการว่างงานใหม่ เพราะตัวเลขที่ต่ำเกินจริงในขณะนี้จะส่งผลให้ไทยวางแผนรับมือกับตลาดแรงงานที่ผิดพลาด” นายธนิตกล่าว
นอกจากนี้ รูปแบบการจ้างงานภายใต้ New Normal และเศรษฐกิจดิจิทัล ทำให้การทำงานเริ่มเปลี่ยนไปจากเดิม ทั้งอาชีพอิสระ (Freelance และ Part-Time) รวมถึงแรงงานที่ไม่ต้องเข้าสำนักงานหรือทำงานไม่เต็มเวลา (Work From Anywhere) รวมถึงล่าสุดภาคธุรกิจเริ่มให้พนักงานทำงานอยู่ที่บ้านหรือ "Work From Home (WFH) มากขึ้นต่อเนื่องเพราะสามารถประหยัดต้นทุนทั้งลูกจ้างและนายจ้างได้ ดังนั้นเห็นว่ารูปแบบการจ้างงานก็ควรจะปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสถานการณ์เพื่อเป็นทางเลือกของการจ้างงานเช่นกัน โดยเฉพาะการจ่ายค่าจ้างรายชั่วโมง
“แต่ก่อน WFH ทำเพราะโควิด-19 แต่ขณะนี้กลายเป็นสิ่งที่ทำแบบถาวรมากขึ้นเพราะนายจ้างลดต้นทุนสำนักงานออฟฟิศ ลูกจ้างลดค่าใช้จ่ายเดินทาง และกำลังเป็นเทรนด์ โดยพบว่าโตเกียวเองธุรกิจ 1 ใน 5 กลายเป็น WFH ไปหมดแล้ว ซึ่งตรงนี้กฎหมายแรงงานครอบคลุม แต่กรณีที่เขามีทางเลือกที่จะเป็น Freelance ที่อื่นด้วยก็สามารถตกลงกันได้ แต่การจ้างรายชั่วโมงกฎหมายแรงงานไม่ครอบคลุมจุดนี้รัฐควรจะต้องเข้ามาพิจารณารายละเอียดเพื่อคุ้มครองสวัสดิการ การคิดเงินชดเชยเลิกจ้าง ฯลฯ” นายธนิตกล่าว