การตลาด - กลุ่มทรูฉายภาพผู้นำคอนเทนต์พรีเมียมทุกเซกเมนต์ ลั่นเดินหน้าขยายเจาะกลุ่มผู้ชมทุกเจนฯ ต่อเนื่อง พร้อมปั้นคอนเทนต์สร้างรายได้ทั้งในและต่างประเทศ ชูทรูไอดีเชื่อมทุกแพลตฟอร์ม ล่าสุดผุดเรียลิตี “Realman Thailand” ทางทรูไอดีทีวี หลังพบเทรนด์ออนดีมานด์มาแรงยั้งไม่อยู่ เชื่อมั่นเพย์ทีวียังอยู่เพราะตอบโจทย์คอนเทนต์แบบยาว
ปัจจุบันธุรกิจคอนเทนต์ต้องมีความหลากหลายและมีจุดเด่นที่แตกต่างมากพอที่จะดึงดูดใจผู้ชมในยุคนี้เพราะเป็นยุคที่มีช่องทางการรับชมที่เป็นทางเลือกเพิ่มมากมายยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเจเนอเรชัน Y และ Z ที่นิยมรับชมคอนเทนต์ผ่านช่องทางดิจิทัลที่ทั้งสะดวกสบายและเลือกชมได้มากมายกว่าช่องทางเดิมๆ
ทำให้วันนี้ผู้ผลิตคอนเทนต์หลายรายต่างมุ่งหน้าสู่น่านน้ำใหม่ๆ ที่พร้อมจะดึงดูดไลฟ์สไตล์ที่แตกต่างกันไปของคนแต่ละเจเนอเรชัน ไม่ว่าจะเป็นโฮมชอปปิ้ง ขายตรง หรือโชว์บิซ ที่ถึงแม้จะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ต่างๆ แต่หลายๆ รายเชื่อว่าฟ้าหลังฝนย่อมจะดีและสดใส
กลุ่มทรู นับเป็นอีกหนึ่งผู้นำด้านการผลิตคอนเทนต์ระดับพรีเมียมในประเทศไทย ที่ได้ผลิตคอนเทนต์ทั้งภาพยนตร์ ซีรีส์ รวมถึงโชว์บิซ ร่วมกับผู้ผลิตในประเทศและต่างประเทศ เข้าถึงกลุ่มผู้ชมทุกเจเนอเรชันทั้งในและต่างประเทศ ผ่านหลากหลายแพลตฟอร์ม ทั้งเพย์ทีวี ฟรีทีวี และดิจิทัลให้รับชมได้ทางออนไลน์ผ่านแอปฯ บนสมาร์ทโฟน หรือสมาร์ททีวี
ล่าสุดนำโดย “องอาจ ประภากมล” ได้เปิดเผยถึงกลยุทธ์ความเป็นผู้นำพรีเมียมคอนเทนต์ระดับประเทศ ในงานสัมมนา Thailand in View ที่จัดโดย AVIA Asia Video Industry Association (วันที่ 18 สิงหาคมที่ผ่านมา)
“ในฐานะผู้ให้บริการเพย์ทีวีตั้งแต่เริ่มแรกในประเทศไทย ถึงแม้ว่าสภาพแวดล้อมธุรกิจจะเปลี่ยนไปขนาดไหนใน 5-6 ปีที่ผ่านมา และธุรกิจเพย์ทีวีกำลังเข้าสู่การปรับเปลี่ยน แต่จุดหลักที่ยังคงเป็นจุดดึงดูดลูกค้าสมาชิกให้ยังอยู่กับเราก็คือคอนเทนต์ เปรียบได้กับคำว่า Content is The King คอนเทนต์ในปัจจุบันอาจมีขนาดที่สั้นลงเพื่อดึงดูดผู้ชมรุ่นใหม่ๆ อันเกิดจากกระแสของโซเชียลมีเดีย” นายองอาจ ประภากมล หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านมีเดีย บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าว
แต่ทั้งนี้ความนิยมของคอนเทนต์ในรูปแบบ Short-Form จากกลุ่ม User-Generated content (UGC) ที่ดึงดูดผู้ชมนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีผลกระทบต่อความต้องการบริโภคคอนเทนต์ที่มีเนื้อหายาว หรือ Long-Form เพราะคอนเทนต์สั้นๆ อาจเป็นที่นิยมสำหรับคนรุ่นใหม่ แต่ทรูวิชั่นส์ ในฐานะผู้ให้บริการ PayTV ก็ยังเชื่อมั่นว่าคอนเทนต์ยาวๆ อย่างการถ่ายทอดกีฬา ภาพยนตร์ ซีรีส์ หรือช่องข่าว ก็ยังคงเป็นคอนเทนต์ที่ได้รับความนิยมอยู่บนแพลตฟอร์มเพย์ทีวี และฟรีทีวี
นายองอาจ ประภากมล หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านมีเดีย บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมากลุ่มทรูเป็นผู้นำด้านพรีเมียมคอนเทนต์ระดับประเทศ เราคัดเลือกคอนเทนต์จากทั่วทุกมุมโลก มีหลากหลายแพลตฟอร์มทั้งโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิกทรูวิชั่นส์ ที่มีทั้งภาพยนตร์ กีฬา ข่าว และรายการบันเทิง
นอกจากนี้ยังมีฟรีทีวีช่อง ทรูฟอร์ยู และช่องข่าว TNN16 รวมถึงดิจิทัลแพลตฟอร์มอย่าง True ID เราได้นำรายการไปสู่ผู้ชมในหลายช่องทางตามแต่ความต้องการของผู้ชม อย่างรายการระดับพรีเมียมและรายการถ่ายทอดสดเอ็กซ์คลูซีฟต่างๆ ไปสู่สมาชิกทรูวิชั่นส์ที่ต้องการรับชมคอนเทนต์ลักษณะเฉพาะ สำหรับช่องทรูฟอร์ยูและ TNN ซึ่งเป็นช่องฟรีทูแอร์ เราก็นำเสนอรายการและคอนเทนต์ไปยังกลุ่มผู้ชมที่แมสกว่า ซึ่งช่องทรูฟอร์ยูเราก็มีกลุ่มแฟนช่องรายการที่เป็นตลาดเฉพาะกลุ่ม
สำหรับแอปพลิเคชันทรูไอดี ซึ่งเป็นแพลตฟอร์ม OTT ที่มีฐานผู้ใช้งานต่อเดือนเป็นอันดับต้นๆ ในประเทศไทย โดยทรูไอดีแอปฯ เป็นแอปฯ ที่มีบริการหลายหลากอยู่ในแอปฯ เดียว (Super App) หลักๆ คือจะมีบริการคอนเทนต์อยู่ในนี้ อย่างพรีเมียมคอนเทนต์ เช่น ถ่ายทอดสดฟรีบางแมตช์ในพรีเมียร์ลีกอังกฤษ
นอกจากนี้ยังมีบริการ TVOD (Transactional video on demand) บริการ SVOD (Subscription video on demand) มีคอนเทนต์ที่ดูย้อนหลังได้จากช่องพรีเมียมสำหรับลูกค้าทรูวิชั่นส์ มี AVOD (Advertising video on demand) มีคอนเทนต์ที่มาจาก UGC (User generated content) และยังมีคอนเทนต์ที่น่าสนใจในรูปแบบ Short-Form และยังมีช่องรายการของทรูวิชั่นส์ที่ผู้ใช้บริการจะได้รับชมผ่านแอปฯ ทรูไอดี
“นี่คือกลยุทธ์ในการให้ทรูไอดีเป็นเหมือนวินโดว์แรกที่นำเสนอตัวอย่างรายการ โดยใช้ความน่าสนใจของเนื้อหา โดยจะนำผู้ใช้บริการเข้าสู่แพลตฟอร์มอื่นๆ อย่างแพลตฟอร์มหลักอย่างทรูชั่นส์ นอกจากนี้เรายังมุ่งหวังให้ผู้ชมคอนเทนต์ของเรา ซึ่งปัจจุบันมี 2 กลุ่มหลัก คือ GEN X ที่มีพฤติกรรมชอบดูโทรทัศน์ในช่วงเวลาพักผ่อนสบายๆ หลังเหนื่อยล้าจากการทำงาน และ Gen Y กับ GEN Z ที่มีพฤติกรรมชมคอนเทนต์แบบสั้นๆ สามารถดูได้ทุกที่ทุกเวลา และมีความต้องการมีส่วนร่วมกับคอนเทนต์นั้นๆ ในแบบอินเตอร์แอ็กทีฟ เช่น กดไลก์หรือแชร์เนื้อหาคอนเทนต์ โดยเราพยายามที่จะนำเสนอคอนเทนต์ที่ครอบคลุมความต้องการในการบริโภคของผู้ชมให้ได้มากที่สุด”
นายองอาจกล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันที่ผู้ชมรับชมคอนเทนต์จากหลากหลายแพลตฟอร์ม ทั้งจากทีวี สมาร์ทโฟน และอุปกรณ์อื่นๆ ทั้งการดูสด และการดูย้อนหลัง จะเห็นว่าในปัจจุบันผู้ผลิตคอนเทนต์ระดับโลกส่วนใหญ่ทั้งจากฝั่งฮอลลีวูด ทั้งภาพยนตร์ ซีรีส์ ก็ผลิตคอนเทนต์ออกมานำเสนอสู่หลายๆ แพลตฟอร์ม ไม่เฉพาะสำหรับโรงภาพยนตร์ หรือออกอากาศทางทีวีเท่านั้น เราเองก็ผลิตคอนเทนต์สำหรับในประเทศ อย่างการถ่ายทอดสดกีฬา อย่าง ไทยลีก หรือรายการกีฬาอื่นๆ เช่น วอลเลย์บอล ปิงปอง เราก็ไปเป็นผู้สนับสนุนกีฬาในประเทศ เช่น สมาคมวอลเลย์บอลไทย
นอกเหนือจากกีฬา เราก็ผลิตรายการบันเทิง รายการข่าว มีช่องข่าว 24 ชั่วโมง ช่อง TNN16 หรืออย่างรายการบันเทิง วาไรตี ซีรีส์ ก็เป็นพาร์ตเนอร์กับผู้ผลิตต่างประเทศ เช่น เกาหลี คือ CJ ENM โดยปัจจุบันได้มีการผลิตซีรีส์ประมาณ 5-6 เรื่องต่อปี ที่นอกจากจะนำมาออกอากาศให้ลูกค้าสมาชิกของเราแล้ว ยังนำออกไปขายในตลาดต่างประเทศ รวมถึงมีให้บริการบน Netflix นอกเหนือจากนี้ยังผลิตซีรีส์และรายการร่วมกับผู้ผลิตในประเทศ และประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีและได้รับรางวัลระดับชาติอย่างมากมาย
ล่าสุดในส่วนของ ทรูไอดีทีวี ได้เปิดตัวเรียลิตี “Realman Thailand” พิสูจน์ความแข็งแกร่งจับดาราเข้าค่ายฝึกทหาร ซึ่ง Realman Thailand เป็นรายการเรียลิตีแบบโหดๆ ที่แฟนๆ คอวาไรตีเกาหลีน่าจะเคยได้ชมกัน ที่นำเอาเหล่าดารานักร้องไอดอลโชว์ศักยภาพในตัวออกมา คุ้นเคยกันอย่าง ลิซ่า แบล็กพิงค์ ที่เคยสร้างความประทับใจในรายการนี้มาแล้วจากเวอร์ชันเกาหลี
สำหรับ Realman Thailand เวอร์ชันประเทศไทยได้ดารา 8 คน นำโดย หยวน นิธิชัย ร่วมด้วย โย ยศวดี, ชิน ชินวุฒิ, ติช่า กันติชา, ฮั่น อิสริยะ, ตั้ม วราวุธ, ตั้ว เสฎฐวุฒิ และแจ็ค เฉลิมพล เข้าร่วมการฝึกฝน แบบทหาร ที่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า จ.นครนายก โดยครูฝึกได้เตรียมสถานีทดสอบสมรรถภาพร่างกาย เพื่อจะได้ทราบถึงขีดจำกัดของร่างกายแต่ละคน โดยสามารถติดตามชมได้ทุกวันอังคาร เวลา 17.00 น. และสามารถดูย้อนหลังได้ทุกตอนที่กล่องทรูไอดีทีวี
*** Q2 กลุ่มทรูกวาดรายได้ 26,600 ล้าน โต 2%
อย่างไรก็ตาม จากแผนการดำเนินงานของกลุ่มทรูที่กำลังเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ภาพรวมผลประกอบการไตรมาสสอง ปี 2563 มีทิศทางที่ดีขึ้น คือ 1. รายได้จากการให้บริการรวมอยู่ที่ 26,600 ล้านบาท โต 2% จากปีก่อน
2. มีกำไรสุทธิ 1,300 ล้านบาท และ 3. EBITDA เพิ่มขึ้นเป็น 9,200 ล้านบาท โต 17% จากปีก่อน (ก่อนมาตรฐานบัญชี TFRS16)
โดยผลประกอบการทั้งหมดมาจาก 4 กลุ่มธุรกิจหลัก ดังต่อไปนี้ คือ 1. ทรูมูฟเอช มีรายได้จากบริการกว่า 20,200 ล้านบาท โต 3.3% จากปีก่อน ซึ่งเติบโตสวนทางกับภาพรวมอุตสาหกรรม ขณะที่จำนวนผู้ใช้งานอยู่ที่ 30.2 ล้านราย 2. ทรูออนไลน์ มีรายได้จากการให้บริการเพิ่มเป็น 6,700 ล้านบาท โตขึ้น 5.7% จากปีก่อน จำนวนลูกค้าเพิ่มเป็น 4 ล้านราย และเป็นจำนวนลูกค้ารายใหม่เพิ่มขึ้นถึง 133,000 ราย ถือเป็นตัวเลขที่สูงเป็นประวัติการณ์
3. ทรูดิจิทัล มียอดรับชมวิดีโอต่อเดือนสูงสุดถึง 219 ล้านวิว มียอดผู้ใช้บริการอีคอมเมิร์ซกว่า 828,000 ราย และยอดผู้เข้าชม 3.3 ล้านคลิกต่อเดือน ขณะที่กล่องทีวีระบบแอนดรอยด์ที่มีฐานลูกค้าใหญ่ที่สุดในไทย ซึ่งมีจำนวนกล่องรวมกว่า 1.4 ล้านกล่อง เติบโตสูงถึง 61% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ส่วนอุปกรณ์เซ็นเซอร์ IoT ที่เชื่อมต่อและใช้บริการแล้วมีกว่า 272,000 อุปกรณ์ และ 4. ทรูวิชั่นส์ มีรายได้จากการให้บริการถึง 2,600 ล้านบาท และมีฐานสมาชิกประมาณ 4 ล้านราย
“เเม้ว่าปัจจุบันเทรนด์ของการให้บริการคอนเทนต์ในรูปแบบ SVOD และ AVOD ที่มีให้ผู้ชมได้เลือกชมมากขึ้น แต่ยังเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่าธุรกิจเพย์ทีวีก็จะยังคงอยู่แต่อาจจะมีการเปลี่ยนรูปแบบไป การนำเสนอบริการสู่กลุ่มเป้าหมายกลุ่ม Gen Z Gen Y และ Alpha ซึ่งเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่กำลังเติบโตขึ้นในปัจจุบัน กลุ่มผู้ชมเหล่านี้มีความสนใจที่จะรับชมคอนเทนต์ในรูปแบบ On-Demand นี้มากขึ้นเรื่อยๆ เพราะความสะดวกสบายที่สามารถรับชมได้ทุกที่ทุกเวลา และที่ไหนก็ได้ตามแต่ไลฟ์สไตล์ของผู้ชม”
“ในขณะที่กลุ่มผู้ชมปัจจุบันที่ยังคงนิยมในคอนเทนต์แบบฉายตามตารางออกอากาศ (Linear TV) ทางทรูวิชั่นส์เราก็จะมีการเพิ่มเติมคอนเทนต์ในรูปแบบ On-Demand เพื่อให้ลูกค้าสามารถเลือกรับชมความบันเทิงเพิ่มเติมได้ทุกที่ทุกเวลา ซึ่งนี่คือแนวทางธุรกิจที่ทรูวิชั่นส์จะก้าวเดินต่อไปเพื่อตอบรับความต้องการรับชมของคนรุ่นใหม่” นายองอาจกล่าวสรุป