รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนไฟเขียวลงนามข้อตกลงยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ และวัสดุก่อสร้างในปีนี้ คาดส่งผลดีต่อการส่งออกไทยแน่ เหตุสินค้าที่ผ่านการตรวจสอบแล้วไม่ต้องตรวจซ้ำอีก เผยยังบรรลุข้อตกลงด้านยาแผนโบราณ-ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารให้มีมาตรฐานเดียวกัน พร้อมย้ำเปิดใช้งานระบบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า 20 ก.ย.นี้ และจับมือภาคเอกชนฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19
นายสรรเสริญ สมะลาภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงผลการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (AEM) ครั้งที่ 52 ผ่านระบบทางไกล ระหว่างวันที่ 24-25 ส.ค. 2563 ที่ผ่านมาว่า อาเซียนสามารถบรรลุผลการเจรจาข้อตกลงยอมรับร่วมสินค้ายานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ และข้อตกลงยอมรับร่วมสาขาวัสดุก่อสร้าง โดยพร้อมที่จะลงนามภายในปีนี้ ซึ่งหากข้อตกลงทั้งสองฉบับมีผลใช้บังคับจะช่วยลดต้นทุนการทำธุรกิจของอุตสาหกรรมดังกล่าว เนื่องจากเมื่อสินค้าผ่านการตรวจสอบมาตรฐานของหน่วยงานในประเทศอาเซียนที่ส่งออกแล้ว ไม่ต้องตรวจซ้ำในประเทศอาเซียนที่นำเข้าอีก
ทั้งนี้ ในปี 2562 ไทยส่งออกสินค้ายานยนต์ไปยังอาเซียน มูลค่า 5,071.19 ล้านเหรียญสหรัฐ และส่งออกสินค้าวัสดุก่อสร้างไปยังอาเซียน มูลค่า 473.17 ล้านเหรียญสหรัฐ
ขณะเดียวกัน ได้บรรลุข้อตกลงกรอบความตกลงอาเซียนด้านยาแผนโบราณและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เพื่อกำหนดมาตรฐาน กฎระเบียบทางเทคนิค และกระบวนการตรวจสอบและรับรองยาแผนโบราณและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารร่วมกันในอาเซียน ซึ่งจะทำให้มีมาตรฐานเดียวกันและช่วยสร้างความมั่นใจให้ประเทศอาเซียน และเป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยในปี 2562 ไทยส่งออกสินค้าดังกล่าวไปยังอาเซียนมูลค่า 695.62 ล้านเหรียญสหรัฐ
นอกจากนี้ ยังได้ติดตามการใช้งานระบบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองของอาเซียน (ASEAN-Wide Self Certification) ซึ่งจะเริ่มใช้งานจริงในวันที่ 20 ก.ย. 2563 ซึ่งผู้ส่งออกสามารถรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าที่ต้องการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีของอาเซียน (Form D) ได้เอง โดยไม่ต้องขอจากหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งจะช่วยประหยัดเวลาและลดต้นทุน และเตรียมขยายการใช้งานระบบ ASEAN Single Window ให้ครอบคลุมเอกสารอื่นเพิ่มเติม เช่น ใบขนสินค้าอาเซียน (ACDD) และใบรับรองสุขอนามัยพืช รวมทั้งการเริ่มนำแนวปฏิบัติเรื่องการใช้มาตรการที่มิใช่ภาษีของอาเซียน (NTM Guidelines) มาใช้ เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและสร้างบรรยากาศที่ดีต่อการค้าและการลงทุนในภูมิภาค และการทบทวนความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน (ATIGA) ให้ทันสมัยและรองรับรูปแบบการค้าในปัจจุบัน รวมทั้งการลดอุปสรรคทางการค้าให้มากขึ้น โดยมีเป้าหมายจะดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2564
ส่วนประเด็นอื่นๆ ได้รับรองเอกสารดัชนีวัดการบูรณาการด้านดิจิทัลของอาเซียน ซึ่งเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จของการรวมตัวด้านดิจิทัลของอาเซียน ซึ่งถือเป็นประเด็นสำคัญที่เวียดนามในฐานะประธานอาเซียนผลักดันต่อเนื่อง จากที่ไทยได้ริเริ่มไว้เมื่อปีที่ผ่านมา และยังได้หารือกับสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน (ASEAN-BAC) โดยรับทราบผลการช่วยผู้ประกอบการ MSMEs ให้ประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล การพัฒนาความเชื่อมโยงในภูมิภาคและการรองรับสังคมดิจิทัลภายใต้การปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 ทั้งนี้ ภาคเอกชนได้เสนอแนวทางการรับมือวิกฤตโควิด-19 และการฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะยาว โดยรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนพร้อมสนับสนุน