รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนออกแถลงการณ์ รับมือโควิด-19 ระบาด เตรียมช่วยกันบรรเทาผลกระทบ เพื่อรักษาตลาดอาเซียนที่เปิดกว้างด้านการค้า การลงทุน พร้อมเห็นชอบแผนงานด้านเศรษฐกิจที่จะผลักดันในปีนี้ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้อาเซียน
นายสรรเสริญ สมะลาภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงผลการเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (AEM Retreat) ครั้งที่ 26 ระหว่างวันที่ 9-11 มี.ค. 2563 ณ เมืองดานัง เวียดนาม ว่า ในการประชุมครั้งนี้ รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนได้แสดงความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของโลกและอาเซียน และได้ร่วมประกาศแถลงการณ์ เรื่อง “การเสริมสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจของอาเซียนในการรับมือต่อการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19” โดยอาเซียนได้เห็นพ้องที่จะเร่งดำเนินการช่วยบรรเทาผลกระทบต่างๆ ที่เกิดขึ้น เช่น รักษาตลาดอาเซียนที่ยังคงเปิดกว้างสำหรับการค้าและการลงทุน และส่งเสริมให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูล การประสานงาน และความร่วมมือระหว่างกันที่ช่วยให้อาเซียนสามารถตอบสนองกับปัญหาที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาด ส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่ออำนวยความสะดวกให้ภาคธุรกิจโดยเฉพาะ MSMEs สามารถดำเนินต่อไปได้ และการใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียน เพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงของห่วงโซ่การผลิตในอาเซียน รวมทั้งหลีกเลี่ยงการดำเนินการที่จะส่งผลให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร เป็นต้น
ทั้งนี้ รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนยังให้ความเห็นชอบแผนงานด้านเศรษฐกิจ ที่เวียดนามในฐานะประธานอาเซียนผลักดันให้อาเซียนดำเนินการให้สำเร็จในปี 2563 ภายใต้แนวคิด “อาเซียนที่เป็นหนึ่งเดียวและพร้อมปรับตัว” โดยแบ่งเป็น 3 ด้านหลัก ได้แก่ ด้านแรก เน้นการส่งเสริมการบูรณาการและความเชื่อมโยงภายในอาเซียน เช่น การส่งเสริมอาเซียนให้เป็นภูมิภาคที่ใช้ดิจิทัลร่วมกัน การส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตอัจฉริยะในประเทศอาเซียน การเชื่อมโยงระบบการชำระเงินในภูมิภาคให้เป็นระบบเดียวกัน ด้านที่สอง คือ การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของอาเซียนกับประชาคมโลก เช่น การลงนามความตกลง RCEP ในปีนี้ และด้านสุดท้าย การเสริมสร้างอาเซียนให้พร้อมปรับตัวและมีศักยภาพมากขึ้น เช่น การสร้างเครือข่ายศูนย์นวัตกรรมของประเทศในอาเซียน และการจัดทำแผนงานด้านความมั่นคงอาหาร โดยหลายประเด็นสานต่อจากไทยที่ริเริ่มไว้ในฐานะประธานอาเซียนปีที่แล้ว เช่น การส่งเสริมอาเซียนให้เป็นภูมิภาคที่ใช้ดิจิทัลร่วมกัน การจัดทำแผนงานต่อต้านการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU) และการลงนามความตกลง RCEP ในปีนี้ เป็นต้น
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้หารือประเด็นสำคัญที่จะช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้าแก่ภาคธุรกิจ เช่น การเริ่มใช้ระบบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตัวเอง เพื่อลดขั้นตอนและค่าใช้จ่ายในการทำการค้าระหว่างกัน และการลงนามข้อตกลงยอมรับร่วม (MRA) ด้านรถยนต์ของอาเซียน โดยเวียดนามซึ่งเป็นประเทศสุดท้ายตอบรับจะเร่งรัดกระบวนการในประเทศให้สามารถดำเนินการประเด็นดังกล่าวทั้งหมดภายในปีนี้ ส่วนความสัมพันธ์กับประเทศนอกภูมิภาค เน้นให้ความสำคัญกับการลงนามความตกลง RCEP ภายในปีนี้ เป็นลำดับแรก พร้อมทั้งเดินหน้าเปิดตลาดการค้าสินค้าอ่อนไหวเพิ่มเติมกับเกาหลีใต้โดยเร็ว
ขณะเดียวกัน รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนได้หารือกับสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน ในประเด็นที่ภาคเอกชนอาเซียนต้องการผลักดันให้อาเซียนดำเนินการ โดยเสนอที่จะดำเนินโครงการสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจในการเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทัลสำหรับผู้ประกอบการในภูมิภาคอาเซียน และเพื่ออำนวยความสะดวกการเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทัลของ MSMEs ให้สามารถเริ่มต้น ขยาย และรักษาธุรกิจได้อย่างประสบความสำเร็จ โดยรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนขอให้ภาคเอกชนดำเนินการร่วมกับคณะกรรมการในสาขาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องของอาเซียน เพื่อให้มีความสอดคล้องและเดินหน้าไปด้วยกัน
ทั้งนี้ อาเซียนเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทย การค้าระหว่างไทยกับอาเซียนในปี 2562 มีมูลค่าการค้ารวม 107,928 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยส่งออกไปอาเซียน มูลค่า 62,904 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าจากอาเซียน มูลค่า 45,024 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยไทยเกินดุล 17,880 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สำหรับตลาดส่งออกและแหล่งนำเข้าสำคัญของไทยในอาเซียน ได้แก่ มาเลเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และ ฟิลิปปินส์