ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ หรือ “ศบศ.” ใช้แนวคิด รูปแบบเดียวกับ “ศบค.”-ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
ศบค.สู้กับไวรัสโควิด-19 ป้องกัน ควบคุมการระบาด ใช้หมอ พยาบาล บุคลากรทางสาธารณสุข อสม.เป็นนักรบแนวหน้า ใช้รูปแบบการบริหารจัดการแบบรวมศูนย์ที่ คณะกรรมการ ศบค.การตัดสินใจคำสั่งใดๆ ถือเป็นเด็ดขาด
ศบศ.สู้กับศึกเศรษฐกิจ อันเนื่องมาจากการระบาดของไวรัสโควิด ทำให้กิจกรรมเศรษฐกิจทุกอย่างหยุดชะงัก นักท่องเที่ยวไม่มา โรงแรมปิดตาย ธุรกิจเอสเอ็มอีปิดตัว คนตกงานหลายแสนคน ใช้ภาคเอกชนที่เห็นปัญหา มีไอเดียว่า ควรจะแก้ไขอย่างไร มีทรัพยากร คือ คน และทุนระดับหนึ่ง ร่วมกับภาครัฐผู้กำหนดนโยบายขับเคลื่อนมาตรการเยียวยากระตุ้นเศรษฐกิจ รวมศูนย์อำนาจการตัดสินใจที่คณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของโควิด-19
มาตรการที่ออกมาจาก ศบศ.จะถูกขับเคลื่อนโดยคณะกรรมการขับเคลื่อนมาตรการบริหารเศรษฐกิจ มีนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีปลัดกระทรวงเศรษฐกิจ 9 กระทรวง ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เลขาสภาพัฒน์ เป็นกรรมการ
คณะกรรมการขับเคลื่อน มีอำนาจหน้าที่ขับเคลื่อน และเร่งรัดให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รับนโยบาย แนวทาง และมาตรการของ ศบศ.ไปปฏิบัติ รวมทั้ง ติดตามประเมินผล
อำนาจของรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ และกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ถูกดึงไปอยู่กับ ศบศ.และคณะกรรมการขับเคลื่อนที่จะสั่งการโดยตรงผ่านปลัดกระทรวง เหมือนรูปแบบการบริหาร ศบค.ที่ยึดอำนาจของรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องไปไว้ที่คณะกรรมการ ศบค.
คณะกรรมการ ศบศ.มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีรองนายกรัฐมนตรี 6 คน เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และตัวแทนจากภาคเอกชน คือ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ร่วมเป็นกรรมการ
และยังมีนักบริหารมืออาชีพจากบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับชาติหลายคน ร่วมเป็นทีมงาน
บทบาทของภาคเอกชนใน ศบศ.นอกจากร่วมคิด ร่วมแก้แล้ว ยังต้องร่วมแรง และร่วมจ่ายด้วย
สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี บอกว่า การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจต่อจากนี้ จะทำผ่าน ศบศ.จะเป็นการทำงานร่วมกันของรัฐและเอกชน มีการทำงานรวดเร็ว มีการบูรณการข้อมูล ทำงานร่วมกัน ไม่แยกหน่วยงาน ไม่แยกกระทรวง ไม่แยกรัฐ ไม่แยกเอกชน และคณะทำงาน ศบศ.จะเข้ามาทำหน้าที่แทนคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ เนื่องจากมีหน่วยงานหลายฝ่ายที่ดูแลครอบคลุมแล้ว ซึ่งจะทำให้สามารถเดินหน้านโยบายได้เร็วขึ้น
ศบศ.ประชุมนัดแรกเมื่อวันที่ 19 สิงหาคมที่ผ่านมา สุพัฒนพงษ์ เปิดเผย ว่า มาตรการที่จะออกมาก่อน คือ การจ้างงานนักศึกษาจบใหม่ และคนว่างงานเพราะพิษโควิด
เขาบอกว่า การจ้างงานแบ่งเป็นบัณฑิตจบใหม่ 4 แสนคน คนตกงาน 4 แสนคน จะว่าจ้าง 12 เดือน ใช้งบประมาณแบบรัฐครึ่ง เอกชนครึ่ง มีมาตรการจูงใจให้เอกชนมาร่วมจ่ายในรูปแบบ Co-Payment
ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เขาได้หารือกับบริษัทเอกชนด้านพลังงานประมาณ 20 แห่ง รวมทั้งบริษัทที่กระทรวงพลังงานกำกับดูแล เช่น ปตท. บริษัทในเครือ กฟผ. เช่น บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ในเรื่องมาตรการต่างๆ ที่จะร่วมมือกับรัฐบาล
“ผมจะเดินสายคุยกับบริษัทเป็นกลุ่มๆ ให้ตัวบริษัทเองกลับมาพิจารณาในเรื่องนี้ว่า วันนี้ตัวเองกลับมาเหมือนเดิมแล้ว เงินเดือนก็ได้รับปกติ บางบริษัทก็มีกำไรพอสมควร แต่ท่านลืมคนกลุ่มหนึ่งไปหรือเปล่า เป็นคนกลุ่มหนึ่งที่เคยเป็นลูกค้าเราด้วยซ้ำไป วันนี้ก็ยังลำบากอยู่ จะเข้ามาร่วมในกิจกรรมของรัฐบาลอย่างไรได้บ้าง ถ้าเรามีความเชื่อร่วมกันนะ แต่ถ้าไม่มีความเชื่อร่วมกัน ผมก็ทำคนเดียวไม่เป็นไร
บริษัทจะมีกำไรหรือเติบโต ไม่ใช่ตัวของเขาเอง ต้องมีลูกค้า ต้องมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเกี่ยวข้อง ดังนั้น วันนี้ต้องหันกลับไปดูสิ่งเหล่านี้กันใหม่ เป็นวาระของทุกคน เป็นวาระของประเทศ”