xs
xsm
sm
md
lg

ไทย-ลาว-มาเลเซีย-สิงคโปร์จ่อลงนามซื้อขายไฟในเวทีประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียน พ.ย.นี้

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เวทีประชุม SOME ครั้งที่ 38 ไทยดันนโยบาย "สุพัฒนพงษ์" พลังงานร่วมใจ รวมไทยสร้างชาติ ที่เน้นสร้างงาน สร้างรายได้ เสนอเพื่อให้ร่วมสนับสนุนลงทุนด้านพลังงานกระตุ้น ศก.ช่วงวิกฤตโควิด พร้อมขยายกรอบร่วมมือ 7 สาขาพลังงาน 4 ชาติ ไทย-สปป.ลาว-มาเลเซีย-สิงคโปร์ (TLMS) จ่อลงนามร่วมมือซื้อขายไฟเวทีรัฐมนตรีพลังงานอาเซียน พ.ย.นี้

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ 38 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง (The 38th Senior Officials Meeting on Energy and Associated Meetings : The 38th SOME) ระหว่างวันที่ 24-27 ส.ค.นี้ ซึ่งประเทศเวียดนามเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมอาเซียนในปีนี้ โดยไทยได้นำนโยบาย “พลังงานร่วมใจ รวมไทยสร้างชาติ” ของนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่เน้นการลงทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างงาน สร้างรายได้ และรองรับนวัตกรรมด้านพลังงานอนาคต เสนอต่อที่ประชุมเพื่อให้ประเทศสมาชิกอาเซียนสนับสนุนและร่วมมือกันลงทุนด้านพลังงานในโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ สายส่งท่อก๊าซธรรมชาติ ธุรกิจพลังงานสะอาดและนวัตกรรมใหม่ด้านพลังงาน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียนและช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยได้ยกตัวอย่างนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชนที่ใช้เชื้อเพลิงจากพลังงานทดแทน (RE) และการนำน้ำมันปาล์มดิบมาผสมน้ำมันดีเซลกับการนำเอทานอลมาผสมน้ำมันเบนซินที่ทำเป็นนโยบายหลักของประเทศ

ทั้งนี้ การประชุมมุ่งเน้นการผลักดันร่างแผนปฏิบัติการความร่วมมือพลังงานอาเซียน ระยะที่ 2 ปี 2021-2025 ภายใต้ 7 สาขาความร่วมมือ โดยเฉพาะความร่วมมือการเชื่อมโยงโครงข่ายไฟฟ้าอาเซียน การขยายการซื้อขายไฟฟ้าแบบพหุภาคีไปยังประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค โดยเฉพาะการขยายความร่วมมือ 4 ประเทศ หรือ LTMS ได้แก่ สปป.ลาว ไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ โดยสิงคโปร์จะรับซื้อไฟผ่าน 3 ประเทศจำนวน 100 เมกะวัตต์ ซึ่งจะมีการลงนามในการประชุมระดับรัฐมนตรีพลังงานอาเซียนเดือนพ.ย. 63 นี้

"ก่อนหน้านี้ได้เป็นความร่วมมือซื้อขายไฟของ 3 ประเทศ คือ LTM รวม 300 เมกะวัตต์จาก สปป.ลาวผ่านสายส่งไทยไปยังมาเลเซีย โดยรายละเอียดของ LTMS จะมีการหารือต่อไป โดยการลงนามดังกล่าวจะทำระบบออนไลน์เช่นเดียวกับการประชุม" นายกุลิศกล่าว

ส่วนความร่วมมือด้านปิโตรเลียม ที่ประชุมเห็นชอบการพัฒนาตลาดร่วมก๊าซธรรมชาติในภูมิภาคและการเชื่อมโยงซื้อขายก๊าซธรรมชาติโดยใช้ Small Scale LNG, ความร่วมมือด้านถ่านหิน ที่ประชุมพร้อมจะลงนามจัดตั้งศูนย์ข้อมูลพลังงานถ่านหินสะอาดอาเซียน ณ ประเทศอินโดนีเซีย ขณะที่ความร่วมมือในการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและการอนุรักษ์พลังงาน ที่ประชุมเห็นชอบการเพิ่มเป้าการลดความเข้มการใช้พลังงานจากที่กำหนดไว้เดิม 30% เป็น 32% ภายในปี 2025 เนื่องจากในปัจจุบันประเทศสมาชิกได้ดำเนินการสำเร็จแล้ว 24.4% ในปี 2019 สำหรับความร่วมมือด้านพลังงานทดแทน ที่ประชุมเห็นชอบเป้าสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทน 23% เทียบกับปริมาณพลังงานที่ผลิตได้ทั้งหมด และ 35% เทียบกับปริมาณกำลังการผลิตติดตั้งของโรงไฟฟ้าทั้งหมดในปี 2025 ซึ่งเป้าที่กำหนดเป็นเป้าหมายที่ท้าทายประเทศสมาชิกอาเซียน เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดจะนำเสนอที่ประชุมรัฐมนตรีพลังานอาเซียนในเดือนพ.ย.นี้
กำลังโหลดความคิดเห็น