“ราช กรุ๊ป” มั่นใจครึ่งปีหลังนี้คว้าโรงไฟฟ้าเพิ่ม 2-3 โครงการ ส่งผลให้บรรลุเป้าหมายมีกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มในปีนี้ 780 เมกะวัตต์ หลังในครึ่งปีแรกบริษัทฯ ลงทุนใหม่ 5 โครงการคิดเป็นกำลังผลิต 242.62 เมกะวัตต์ หนุนสิ้นปี 2563 มีกำลังผลิตติดตั้งรวม 8,177.68 เมกะวัตต์ ด้านผลประกอบการ 6 เดือนแรกของปี 2563 บริษัทมีกำไรส่วนของบริษัทจำนวน 2,434.98 ล้านบาท ลดลง 34.1% จากงวดเดียวกันของปี 2562
นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (RATCH) เปิดเผยว่า ในครึ่งหลังของปีนี้บริษัทฯ คาดว่าจะปิดดีลเข้าซื้อกิจการ (M&A) และการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าใหม่เพิ่มอีก 2-3 โครงการทั้งในไทยและอาเซียน มีทั้งโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงหลัก และโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน ทำให้บรรลุเป้าหมายการมีกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ในปี 2563 เพิ่มขึ้น 780 เมกะวัตต์ หลังจากครึ่งแรกของปี 2563 บริษัทลงทุนโรงไฟฟ้าใหม่ในไทยและเวียดนามรวม 5 โครงการ คิดเป็นกำลังการผลิต 243 เมกะวัตต์ เช่น โรงไฟฟ้าเน็กส์ซิฟ เอ็นเนอร์จี, โรงไฟฟ้าอาร์อีเอนโคราช (IPS) โรงไฟฟ้าราชโคเจนเนอเรชั่น ส่วนขยาย, โรงไฟฟ้าพลังลม Thanh Phong และกองทุน ABEIF ทำให้ครึ่งหลังปีนี้ต้องหากำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ 537 เมกะวัตต์
โดยงบลงทุนในปีนี้บริษัทฯ ได้ปรับลดลงจากเดิมที่เคยตั้งงบไว้ 2 หมื่นล้านบาท เหลือเพียง 1.5 หมื่นล้านบาท เนื่องจากผลกระทบโควิด-19 ทำให้การลงทุนซื้อกิจการ (M&A) ล่าช้าออกไป ซึ่งครึ่งปีแรกบริษัทใช้เงินลงทุนไปแล้ว 3.7 พันล้านบาท และครึ่งปีหลังจะใช้เงินลงทุนอีก 1.13 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นงบลงทุนในไตรมาส 3 นี้ราว 6 พันล้านบาท และไตรมาส 4 อีก 5.3 พันล้านบาท ขณะเดียวกัน บริษัทมีแผนออกหุ้นกู้ 5-8 พันล้านบาท เพื่อใช้คืนหนี้ที่ครบกำหนด 1,250 ล้านบาท และ 50 ล้านเหรียญสหรัฐส่วนที่เหลือใช้เพื่อการลงทุน
ปัจจุบันบริษัทฯ มีกำลังการผลิตติดตั้งรวมทั้งสิ้นเป็น 8,177.68 เมกะวัตต์ หากในครึ่งปีหลังสามารถลงทุนได้ตามเป้าหมายก็จะส่งผลให้สิ้นปี 2563 RATCH มีกำลังการผลิตติดตั้งเพิ่มขึ้นเป็น 8,714.68 เมกะวัตต์ ส่งผลให้ภาพรวมผลประกอบการในปี 2563 ดีกว่าปี 2562 ที่มีรายได้รวม 43,220 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 5,963 ล้านบาท เนื่องจากรับรู้รายได้เพิ่มจากโครงการที่ M&A และครึ่งหลังปี 2563 จะไม่มีการหยุดซ่อมบำรุงโรงไฟฟ้าเหมือนครึ่งแรกปี 2563 แต่รับรู้รายได้จากโรงไฟฟ้าน้ำงึม 2 กำลังการผลิตติดตั้ง 615 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียน เซน้ำน้อย กำลังผลิตติดตั้ง 410 เมกะวัตต์ ในสปป.ลาว ซึ่งช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งเป็นฤดูฝนจะมีปริมาณน้ำเพิ่มช่วยให้ผลิตไฟฟ้าได้เพิ่มขึ้น รวมถึงการรับรู้รายได้จากการให้บริการโครงข่ายสายใยแก้วนำแสง และยังรับรู้รายได้ในธุรกิจจำหน่ายอุปกรณ์เซ็นเซอร์ และค่าเช่าสัญญาณ Sigfox คาดว่าปีนี้ให้บริการได้ 350 จุด
สำหรับผลประกอบการในครึ่งปีแรกปี 2563 บริษัทฯ มีรายได้รวม 20,767.79 ล้านบาท ประกอบด้วย รายได้จากการขายและบริการและรายได้ตามสัญญาเช่าการเงินของโรงไฟฟ้าที่บริษัทควบคุม 18,321.55 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 88.22% และบริษัทฯ มีกำไรส่วนของบริษัทจำนวน 2,434.98 ล้านบาท ลดลง 34.1 % จากงวดเดียวกันของปี 2562
นายกิจจากล่าวต่อไปว่า บริษัทฯ มั่นใจว่าจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าได้ตามเป้าหมายที่ 10,000 เมกะวัตต์ภายในปี 2566 จากสิ้นปีนี้มีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 8,714 เมกะวัตต์ ซึ่งยังเหลือประมาณ 1,300 เมกะวัตต์ ก็จะทำให้บรรลุเป้าหมาย และมั่นใจว่าจะสามารถสร้างมูลค่ากิจการของบริษัทให้เติบโตถึงเป้าหมายที่ 200,000 ล้านบาทในปี 2566 ส่วนสัดส่วนธุรกิจที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจผลิตไฟฟ้ามีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนรายได้เป็น 20% ในปี 2566 จากปัจจุบันมีสัดส่วนรายได้ที่ 5-10%
สำหรับธุรกิจที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจไฟฟ้านั้น บริษัทฯ เตรียมร่วมกับพันธมิตรยื่นประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง เส้นนครปฐม-ชะอำ ส่วนโครงการลงทุนในธุรกิจจัดหาเชื้อเพลิงชีวมวล (Wood pellet) ที่จะลงทุนใน สปป.ลาวนั้นคาดว่าจะสัมปทานเช่าพื้นที่ได้ไตรมาส 3/63 พื้นที่ 40,000 ไร่ แต่เบื้องต้นจะลงทุนก่อน 20,000 ไร่ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างเจรจาขายเชื้อเพลิงให้กับลูกค้าในจีน และเกาหลีใต้ไว้หลายราย
นายกิจจากล่าวถึงความคืบหน้าโรงไฟฟ้าหินกอง ขนาด 1,400 เมกะวัตต์ว่า ปัจจุบันโรงไฟฟ้าหินกองได้ผ่านการอนุมัติการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) จากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) แล้ว และอยู่ระหว่างเตรียมลงนามกับผู้รับเหมาก่อสร้าง คาดว่าจะเสร็จภายในปี 2563 และจัดหาเงินกู้ได้ในปี 2564 คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ไตรมาส 2/2564 และจะเสร็จตามกำหนดการหน่วยผลิตไฟฟ้าแรก 700 เมกะวัตต์ เดือน มี.ค. 2567 และหน่วยที่ 2 อีก 700 เมกะวัตต์ในวันที่ 1 ม.ค. 2568
ส่วนการจัดหาก๊าซธรรมชาติป้อนโรงไฟฟ้าหินกองนั้น ขณะนี้ได้เจรจากับผู้จัดหาก๊าซฯ หลายราย หลังจากบริษัทฯ ได้รับอนุมัติเป็นผู้ประกอบการจัดหาและนำส่งก๊าซธรรมชาติ (Shipper) จากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ไปเมื่อวันที่ 21 พ.ค. 2563 เพื่อหาเงื่อนไขที่ดีสุด อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ยังไม่ได้ตัดทางเลือกการเจรจาซื้อก๊าซฯ จากบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) แต่อย่างใด แต่จะนำข้อมูลทั้งด้านราคาและรายละเอียดเงื่อนไขการรับก๊าซฯ จากผู้จัดหาก๊าซฯ รายอื่นๆ มาเปรียบเทียบด้วย ทั้งนี้ แม้บริษัทจะได้รับอนุมัติเป็น Shipper ก๊าซฯ แล้วก็ตาม แต่ยังไม่สามารถนำเข้าก๊าซฯ ได้จริง เพราะต้องรอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่อนุมัติให้นำเข้าก๊าซฯ ก่อน รวมทั้งต้องให้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เห็นชอบก่อนด้วยจึงจะเริ่มนำเข้าได้ โดยบริษัทต้องทำสัญญาซื้อขายก๊าซฯ ให้เสร็จก่อนโรงไฟฟ้าหินกองจะเริ่มเข้าระบบในปี 2567
ส่วนขั้นตอนการนำเข้าก๊าซฯ จะต้องเช่าคลังเก็บ LNG ก่อน ซึ่งอาจเป็นของ ปตท. หรือคลังของบริษัท กัลฟ์ เอ็มทีพี แอลเอ็นจีเทอร์มินอล จำกัด นอกจากนี้ ต้องเจรจาการผ่านท่อก๊าซฯ เนื่องจากปัจจุบันโครงสร้างราคาผ่านท่อก๊าซฯ ได้บวกรวมต้นทุนท่อก๊าซฯ บนบกและในทะเล แต่บริษัทฯ จะใช้เฉพาะท่อบนบก ดังนั้นจึงไม่ยุติธรรมหากจะรวมต้นทุนท่อก๊าซฯ ในทะเลมาด้วย