xs
xsm
sm
md
lg

กกพ.หนุนเปิดเสรีกิจการก๊าซฯ…แนะเอกชนรอรัฐรื้อสูตร

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ผู้จัดการรายวัน360 - “กกพ.”หนุนเปิดเสรีกิจการก๊าซเต็มรูปแบบ หลังราคา LNG ตลาดโลกเริ่มลดลง และเริ่มมีผู้เล่นมากขึ้นหลังเอกชน 3 รายคว้าใบอนุญาต LNG Shipper รวมปตท.-กฟผ.เป็น 5 ราย แนะเอกชนให้รอรัฐปรับสูตรโครงสร้างราคาก๊าซฯใหม่เหตุสูตรเก่าเสียเปรียบ ขณะที่การนำเข้าเพื่อผลิตไฟฟ้าถือเป็นกิจการสาธารณูปโภคยังคงบทบาทปตท.-กฟผ.ไว้เป็นหลัก

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) และโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG)ที่เปลี่ยนไปโดยมีแนวโน้มราคาตลาดโลกต่ำลงเมื่อเทียบกับก๊าซฯในอ่าวไทยส่งผลให้เริ่มมีผู้จัดหาและค้าส่งฯมากขึ้นโดยล่าสุดกกพ. ได้อนุมัติออกใบอนุญาตจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (LNG Shipper) ให้กับเอกชน 3 รายได้แก่ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด(มหาชน) หรือ GULF ,บริษัท หินกองเพาเวอร์โฮลดิ้ง จำกัด (HKH) และ บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ทำให้ปัจจุบันมี ผู้ได้รับใบอนุญาตฯ รวม 5 ราย จาก 2 รายเดิมคือ บมจ.ปตท. และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย( กฟผ.) ดังนั้นสถานการณ์ปัจจุบันจึงเอื้อต่อการเปิดเสรีกิจการก๊าซฯเต็มรูปแบบ

“ส่วนตัวแล้วเห็นว่าขั้นตอนหรือ Step การเปิดเสรีกิจการก๊าซฯ 3 ระยะที่วางไว้ ไม่จำเป็นแล้วเพราะก่อนหน้านี้รัฐวางไว้เพราะราคาก๊าซฯนำเข้าแพงกว่าอ่าวไทยแต่ตอนนี้ราคา LNG ในรูปแบบตลาดจร(Spot) มีราคาถูกมาก เป็นจังหวะดีที่จะนำเข้ามาเฉลี่ยต้นทุนราคาก๊าซฯที่เป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าของประเทศ และมองว่า ภาคเอกชนที่จะนำเข้าก๊าซฯ คงจะไม่นำเข้าแค่สัญญา Spot LNG แต่น่าจะทำสัญญาจัดหา LNG ในระยะยาวด้วย ส่วนราคาก๊าซฯจะถูกหรือแพงขึ้นนั้นในระยะยาวข้อเท็จจริงคงไม่มีใครตอบได้ แต่โดยหลักการแล้ว การเปิดแข่งขันเสรี ก็ทำให้มีทางเลือกมากขึ้น และกลไกการแข่งขันจะผลักดันให้ราคาถูกลงโดยอัตโนมัติ”นายคมกฤชกล่าว

อย่างไรก็ตาม โครงสร้างการแข่งขันกิจการก๊าซฯใหม่กระทรวงพลังงาน ได้กำหนดไว้ 2 แนวทางหลักคือการเปิดให้แข่งขันกันแบบเสรีทั้งหมด ซึ่งจะยึดตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) เดิม ที่เคยอนุมัติกรอบดำเนินการ 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1กำหนดให้ กฟผ.ทดสอบนำเข้า 2 ลำปริมาณรวม 130,000 ตัน เพื่อมาใช้เป็นเชื้อเพลิงให้โรงไฟฟ้าบางปะกง ชุดที่ 5, โรงไฟฟ้าวังน้อย ชุดที่ 4 และ โรงไฟฟ้าพระนครใต้ ชุดที่ 4 ซึ่ง ระยะที่ 2 คือ พิจารณาออกใบอนุญาตให้ภาคเอกชน ปัจจุบันได้ดำเนินการระยะที่ 1 และ 2แล้ว และ ระยะที่ 3 คือเปิดให้เอกชน นำเข้าก๊าซฯได้จริง ซึ่งต้องรอ กพช.เห็นชอบในก่อน

แนวทางที่ 2 การกำหนดให้บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) หรือ PTT เป็นผู้รับซื้อก๊าซฯเพียงรายเดียว ภายใต้รูปแบบ Enhanced Single-Buyer Model (ESB) คล้ายกับธุรกิจไฟฟ้าที่ กฟผ.เป็นผู้รับซื้อไฟฟ้าเพียงรายเดียว แต่ในส่วนของธุรกิจก๊าซฯ จะเปิดให้เอกชนที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (Shipper) รายใหม่ ดำเนินจัดหาก๊าซฯเพื่อประมูลแข่งขันให้ได้ราคาที่ดีที่สุดเพื่อขายก๊าซฯให้กับ ปตท.เพียงรายเดียว

“หากเป็นแนวทางที่ 2 ก็ไม่จำเป็นต้องปรับปรุงสูตรราคาก๊าซฯใหม่ เพราะ ปตท.ยังเป็นผู้ซื้อก๊าซฯรายเดียวเหมือนเดิม ส่วนตัวคิดว่าไม่ต้องยึดStep 3ระยะ แต่สูตรโครงสร้างราคาก๊าซเฉลี่ย(Pool)ต้องมาคิดกันใหม่เพราะถ้ายึดสูตรเก่า เอกชนเสียเปรียบ เพราะหารรวมท่อทั้งหมด ดังนั้นเอกชนที่ได้ใบอนุญาตShipperไป ควรจะรอให้ภาครัฐพิจารณาปรับโครงสร้างสูตรราคาก๊าซฯให้ชัดเจนก่อน ซึ่งกกพ.ได้เสนอแนวทางไปยังกระทรวงพลังงานแล้ว เพราะปัจจุบัน ผู้ใช้ก๊าซฯทุกรายต้องจ่ายค่าผ่านท่อก๊าซฯทั้งบนบกและในทะเล แต่พอเป็นการนำเข้า LNG ก็ไม่ได้ใช้ท่อก๊าซฯในทะเล ใช้แต่คลังเก็บก๊าซฯ (Terminal) กับท่อบนบก เท่านั้น ก็อาจจะต้องตัดแบ่งส่วนการคิดคำนวนออกจากสูตรเดิม”นายคมกฤชกล่าว

สำหรับการจัดหาก๊าซฯเพื่อผลิตไฟฟ้า ถือเป็นกิจการสาธารณูปโภค ถ้าจะให้เป็นการเปิดแข่งขันทั้งหมดคงไม่ใช่ แต่ยังควรจะคงบทบาทของผู้เล่นรายใหญ่ของรัฐไว้ เช่น ปตท. และกฟผ.ควรมีอยู่ แต่จะอยู่ในสัดส่วนเท่าไหร่นั้น ก็ที่นโยบายภาครัฐจะกำหนดสัดส่วนให้เหมาะสมอย่างไร ดังนั้น การจะเปิดเสรีฯหรือไม่ ไม่สำคัญอยู่ที่ว่าต้องให้มีการแข่งขัน และตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการพ.ศ. 2550 ก็เปิดให้ส่งเสริมการแข่งขันอยู่แล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น