xs
xsm
sm
md
lg

“ส.อ.ท.” ถกสรรพสามิตเว้นภาษีดึงเอทานอลป้อนภาคอุตสาหกรรม

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ส.อ.ท.รุดหารืออธิบดีกรมสรรพสามิตหวังเปิดทางดึงเอทานอล 26 โรงงานป้อนเป็นวัตถุดิบภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะอาหารและยาโดยเว้นภาษีเป็นศูนย์ สอดรับกับการดึงไปผลิตเจลและแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อรับมือโควิด-19 ก่อนหน้านี้เล็งรอรัฐมนตรีพลังงานคนใหม่ไฟเขียว คาดได้ข้อสรุปไม่เกิน 30 ก.ย.นี้ มั่นใจต่ออายุภาษีฯ เป็นศูนย์ดึงเอทานอลผลิตเจลล้างมือต่ออีก 1 ปี

นายพิพัฒน์ สุทธิวิเศษศักดิ์ นายกสมาคมการค้าผู้ผลิตเอทานอลไทยและกรรมการในคณะอนุกรรมการป้องกันการระบาดโควิด-19 สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้คณะอนุกรรมการฯ นำโดย นางพิมพ์ใจ ลี้อิสสระนุกูล ในฐานะประธานและคณะผู้แทนจาก ส.อ.ท.เข้าหารือกับ นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิต เพื่อขอให้ส่งเสริมการนำเอทานอลมาเป็นวัตถุดิบในภาคอุตสาหกรรม เช่น อาหาร และยา โดยสนับสนุนด้านอากรให้เป็นศูนย์เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศ โดยทางกรมสรรพสามิตไม่ได้ขัดข้องแต่ขอให้กระทรวงพลังงานได้เห็นชอบก่อนเนื่องจากโรงงานเอทานอลเพื่อผลิตเชื้อเพลิง 26 รายปัจจุบันอยู่ภายใต้การกำกับของกระทรวงพลังงาน ซึ่งแนวทางดังกล่าวจะได้ข้อสรุปภายในวันที่ 30 ก.ย. 2563

“เราคงต้องรอรัฐมนตรีพลังงานคนใหม่ แต่หากดูแล้วจะไม่ทันก่อน 30 ก.ย.ก็อาจจะหารือกับนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ให้ช่วยพิจารณา เนื่องจากเรื่องนี้กรมสรรพสามิตร่วมกับกระทรวงพลังงานได้ปลดล็อกการนำเอทานอลและเว้นภาษีมาทำผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเพื่อช่วยป้องกันการแพร่เชื้อโควิด-19 ซึ่งจะสิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย.นี้ ซึ่งกรมสรรพสามิตจะขยายออกไปอีกและเอกชนได้เสนอให้ขยายเวลาออกไปอีก 1 ปี หรือเริ่มตั้งแต่ 1 ต.ค. 63-30 ก.ย. 64 เพราะโควิด-19 ยังไม่แน่นอน ประกอบกับผู้ผลิตอาหารและยาต้องการให้เว้นอากรช่วยเหลือในเรื่องนี้ด้วยเป็นการถาวรเพราะส่วนนี้ใช้ไม่มาก” นายพิพัฒน์กล่าว

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมอาหารและยาปัจจุบันจะใช้แอลกอฮอล์บริสุทธิ์ 95% ไม่เป็นพิษต่อร่างกาย เช่น ขนมปังจะใช้ฆ่าเชื้อที่บรรจุภัณฑ์ก่อนหีบห่อ อุตสาหกรรมยา ใช้ผสมยาเพื่อฉีดพ่น เช่น ยาแก้ไอ เป็นต้น ซึ่งขณะนี้ต้องซื้อจากผู้นำเข้าแอลกอฮอล์จากต่างประเทศที่มีราคาสูงกว่าในประเทศ โดยเห็นว่าการใช้จากผู้ผลิตเอทานอลที่เป็นเชื้อเพลิงที่ปัจจุบันมีโรงงาน 26 แห่งมีกำลังการผลิตตามเครื่องจักรถึง 6.25 ล้านลิตรต่อวันหรือราว 2,200 ล้านลิตรต่อปี แต่การใช้ด้านเชื้อเพลิงมีเพียง 1,600 ล้านลิตรต่อปีเท่านั้น ทำให้ยังมีศักยภาพในการป้อนให้อุตสาหกรรมอาหารและยาเพิ่มเติมนอกเหนือจากถูกดึงไปเป็นผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดมือ หรือเจลแอลกอฮอล์ต่างๆ ในขณะนี้

อย่างไรก็ตาม กรมสรรพสามิตกังวลเรื่องการนำเอทานอล (แอลกอฮอล์บริสุทธิ์ 95%) ไปใช้ผิดประเภทหรือทำสุราเถื่อน จึงมอบให้หาแนวทางที่จะสร้างกลไกในการควบคุม เบื้องต้นอาจจะต้องเติมสารต่างๆ เข้าไป เช่น กลีเซอรีน สารขม เป็นต้น ซึ่งแต่ละอุตสาหกรรมก็จะต้องการต่างกันไปจึงต้องกำหนดให้สอดคล้องกับความต้องการผลิตของสินค้านั้นๆ ขณะที่ผู้ผลิตเอทานอลกำลังหารือว่าเป็นไปได้หรือไม่โรงงานเอทานอลแต่ละรายจะต้องระบุให้ชัดเจนว่าจะใช้ในเชื้อเพลิงสัดส่วนเท่าใดเพื่อไม่ให้กระทบต่อส่วนนี้โดยจะต้องหารือรายละเอียดอีกครั้ง

“การดำเนินงานดังกล่าวจะยังช่วยให้อุตสาหกรรมในประเทศอยู่รอดท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 เป็นการพึ่งพาตนเอง เพราะส่วนหนึ่งการใช้น้ำมันภาพรวมก็ลดลงและกระทรวงพลังงานก็ได้เลื่อนการกำหนดให้แก๊สโซฮอล์ E20 เป็นน้ำมันพื้นฐานออกไป ดังนั้นปริมาณเอทานอลในประเทศมีมากพอแน่นอน ประกอบกับขณะนี้ความต้องการใช้เอทานอลเพื่อไปทำเจลล้างมือก็เริ่มอิ่มตัวเช่นกันเพราะผู้ผลิตก่อนหน้าได้ซื้อไปสต๊อกจำนวนมากแล้ว การมาซื้อตรงกับโรงงานเอทานอลน้อยมากตอนนี้” นายพิพัฒน์กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น