"อธิบดีกรมสรรพสามิต" ชี้จ้างเอกชนเก็บภาษีเบียร์เป็นเวลา 7 ปี จะได้ภาษีเพิ่มปีละ 8 พันล้านบาท ระบุ ที่มาวงเงินรายได้ในการจัดเก็บภาษีตามโครงการฯ เกิดจากการคาดการณ์ตัวเลขการผลิตที่จะมีประมาณ 4.5 พันล้านยูนิต รวมทั้งยังใช้ยอดการผลิตย้อนหลัง 5 ปีมาเป็นฐานในการคำนวณมูลค่าโครงการ ทั้งยังโต้กระแสข่าวใช้เงินจากโครงการดังกล่าวหนุนตั้งพรรคการเมืองใหม่
นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บภาษีเบียร์ ผ่านระบบเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีบนบรรจุภัณฑ์ (Direct coding) โดยกรมสรรพสามิตได้ว่าจ้างเอกชนกลุ่มบริษัทสามารถ ร่วมกับบริษัท ซิบป้า (SICPA) จากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ทำหน้าที่เป็นผู้จัดเก็บภาษีให้เป็นเวลา 7 ปี รวมเป็นวงเงิน 8,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันกรมสรรพสามิตสามารถเก็บภาษีเบียร์โดยรวมได้ประมาณ 7-8 หมื่นล้านบาทต่อปี เนื่องจากระบบมิสเตอร์วัดการเก็บภาษีเบียร์ปัจจุบันได้ใช้มานานแล้ว จึงทำให้มีปัญหาการเก็บภาษีเบียร์ซึ่งทำได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ
สำหรับกรอบวงเงินตามโครงการที่ 8,000 ล้านบาทนั้น อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า จะมาจากการนำประมาณการตัวเลขการผลิตที่คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 4.5 พันล้านยูนิตต่อปี ทั้งนี้ จะใช้ยอดการผลิตย้อนหลัง 5 ปีมาใช้เป็นฐานในการคำนวณมูลค่าโครงการ ดังนั้น จึงไม่เกี่ยวกับกระแสข่าวว่าโครงการนี้มีการนำเงินไปสนับสนุนตั้งพรรคการเมืองใหม่แต่อย่างใด
ส่วนค่าใช้ดำเนินการโครงการนั้น จะเริ่มนับหนึ่งค่าใช้จ่ายเมื่อทุกสายการผลิตมีการติดตั้งเครื่องเรียบร้อยและพร้อมเดินเครื่องทดสอบระบบ จนกระทั่งผู้ประกอบการและกรมสรรพสามิตเห็นชอบพร้อมกัน โดยเป้าหมายเบื้องต้นภายในต้นปี 2564 จะเริ่มดำเนินโครงการได้กับ 9 โรงงาน ใน 42 สายการผลิต ด้านค่าจ้างที่เอกชนที่รับจากการเก็บภาษีเบียร์ให้แก่กรมสรรพสามิตจะอยู่ที่ 25 สตางค์ต่อหน่วย
ด้าน นายพิษณุ วิเชียรสรรค์ กรรมการรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่อาวุโส บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ยืนยันว่า บริษัทฯ มีความพร้อมในการจัดเก็บภาษีเบียร์ระบบใหม่ เพื่อให้การเก็บภาษีตรงไปตรงมาที่สุด ทั้งนี้ บริษัทฯ ไม่จำเป็นต้องลงทุนเพิ่มเนื่องจากกรมสรรพสามิตจะเป็นผู้ดำเนินการในเรื่องดังกล่าว
ขณะที่นายสุรสิทธิ์ ทองจันทร์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักภาษีแลรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัทบุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ย้ำว่า บริษัทฯ พร้อมที่จะปฏิบัติตามนโยบายของกรมสรรพาสามิตในการปรับเปลี่ยนวิธีการเก็บภาษีใหม่ให้สอดคล้องต่่อเทคโนโลยีสมัยใหม่