xs
xsm
sm
md
lg

ศูนย์กลางพลังงานไฟฟ้าของอาเซียน ฝันไกลที่เป็นได้จริง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้า ถือเป็นโจทย์สำคัญของภูมิภาคอาเซียน เพราะส่งผลต่อการพัฒนาประเทศการเติบโตทางเศรษฐกิจและความมั่นใจของนักลงทุน ทุกประเทศในอาเซียนจึงให้ความสำคัญกับพลังงานไฟฟ้า อาทิ สปป.ลาว ชิงประกาศตัวเป็นแบตเตอรี่อาเซียน เพราะสามารถผลิตไฟฟ้าได้ในปริมาณมากและราคาถูก ในขณะที่เวียดนามเร่งพัฒนาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนทั้งแสงแดดและลม ส่วนประเทศไทยมีศักยภาพในการเชื่อมโยงระบบส่งไฟฟ้ากับประเทศเพื่อนบ้าน จึงตั้งเป้าสู่การเป็นศูนย์กลางพลังงานไฟฟ้า (Regional Electricity Hub) ของภูมิภาคอาเซียน เพื่อส่งขายไฟฟ้าให้กับประเทศที่ขาดแคลน



ระบบโครงข่ายไฟฟ้าของไทยที่มีความมั่นคงและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เป้าหมายสู่การเป็นศูนย์กลางพลังงานไฟฟ้าไม่ใช่ฝันไกลอีกต่อไป โดยมีก้าวสำคัญคือ การพัฒนาโครงข่ายระบบส่งไฟฟ้าให้มีความทันสมัย (Grid Modernization) มั่นคง เชื่อถือได้ สามารถรองรับความผันผวนไม่แน่นอนของพลังงานหมุนเวียน สามารถส่งไฟฟ้าได้ทันตามความต้องการทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพของไฟฟ้าในราคาที่แข่งขันได้


การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในฐานะหน่วยงานหลักที่ดูแลระบบส่งไฟฟ้าของประเทศจึงมุ่งเน้นการพัฒนาระบบส่งไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ โดยนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยมาช่วยบริหารจัดการ อาทิ การใช้ระบบติดตามเฝ้าระวังแบบออนไลน์ในการวางแผนสำหรับบำรุงรักษา การใช้โดรนบินตรวจสายส่งแทนคน นำร่องติดตั้งแบตเตอรี่กักเก็บพลังงานที่สถานีไฟฟ้าแรงสูงบำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ และสถานีไฟฟ้าแรงสูง ชัยบาดาล จ.ลพบุรี เพื่อแก้ปัญหาคุณภาพไฟฟ้าจากความไม่แน่นอนของพลังงานหมุนเวียนที่เข้ามาในระบบ รวมถึงการปรับปรุงสถานีไฟฟ้าแรงสูงเป็นแบบดิจิทัลเพื่อรองรับกับการเชื่อมต่อกับโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะหรือสมาร์ทกริดในอนาคต

สถานีไฟฟ้าแรงสูง

ศูนย์พยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน กฟผ.
นอกจากนี้ ศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้าของประเทศยังเตรียมขยายบทบาทเป็นศูนย์ควบคุมพลังงานหมุนเวียนของประเทศ โดยปัจจุบันได้เริ่มศึกษาระบบพยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (RE Forecast) จากข้อมูลสภาพอากาศ ความเข้มของแสง อุณหภูมิ ตำแหน่งของโรงไฟฟ้า ความเร็วลม ทิศทางลม และข้อมูลในอดีต 2561-2562 ซึ่งได้นำร่องศึกษากับผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนขนาดเล็ก (SPP) จำนวน 30 แห่ง ทั่วประเทศ ทำให้สามารถพยากรณ์กำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้ทุก ๆ ครึ่งชั่วโมง จนถึงใน อีก 7 วันข้างหน้าได้อย่างแม่นยำ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการจัดทำแผนการผลิตไฟฟ้าของประเทศ

การซื้อขายไฟฟ้าระหว่างประเทศ เป็นฝันไกลที่หลายประเทศในอาเซียนอยากจะทำ แต่เมื่อประเทศไทยมีความได้เปรียบในทั้งที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ โครงข่ายระบบส่งที่มั่นคง จึงถือเป็นโอกาสสำคัญที่ไทยจะเตรียม ความพร้อมสร้างขีดความสามารถด้านตลาดไฟฟ้าระดับภูมิภาค เพื่อช่วงชิงโอกาสนี้ก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางพลังงานไฟฟ้าของอาเซียน


กำลังโหลดความคิดเห็น