xs
xsm
sm
md
lg

ถึงเวลาเปลี่ยนวิกฤตมลภาวะ สู่ทศวรรษแห่งพลังงานทดแทน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โดย คุณวลัยรัฏฐ์ รัชตะวรรณ
บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน)

ภาวะโลกร้อนและฝุ่นละออง PM 2.5 สะท้อนภัยใกล้ตัว มลภาวะจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และฝุ่นละอองในชั้นบรรยากาศก่อผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศโลกและผลกระทบเชิงลบในหลายแง่มุมต่อธรรมชาติและความเป็นอยู่ของประชากรเกือบทั่วโลก โดยสาเหตุหลักมาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล เพื่อให้พลังงานเป็นจำนวนมากของทั้งภาคอุตสาหกรรมและการขนส่ง และเพื่อการแก้ปัญหาดังกล่าวกว่า 190 ประเทศได้ร่วมกันลงนาม Paris Agreement ตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงผลักดันการใช้พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) เพื่อลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศให้ได้มากที่สุดตาม Net Zero Carbon Footprint ภายในปี 2050

จากรายงานล่าสุดของ REN21 (Renewable Energy Policy Network for the 21st century) ในปี 2019 ได้ประมาณการสัดส่วนของการใช้พลังงานจากฟอสซิลที่ 80% ของการใช้พลังงานทั้งหมด (โดยแบ่งเป็นพลังงานความร้อน 51% เช่น พลังงานความร้อนที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรมการผลิต ตามด้วยพลังงานที่ใช้ในภาคการขนส่ง 32% และพลังงานไฟฟ้า 17%) ขณะที่การใช้พลังงานหมุนเวียนคิดเป็นเพียง 11% เท่านั้น (โดยแบ่งเป็น Renewable Electricity ที่ 5.7% ตามด้วย Renewable Heat 4.3% และ Transport biofuels 1.0%) จะเห็นได้ว่ายังคงเหลือความต้องการพลังงานหมุนเวียนเพื่อทดแทนพลังงานจากฟอสซิลอีกเป็นจำนวนมาก หากโลกต้องการที่จะเดินตามแผนงาน Net Zero Carbon Footprint 2050 ซึ่งในปัจจุบันประเทศที่มีการลงทุนในพลังงานหมุนเวียนมากที่สุด ได้แก่ สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น และอินเดีย

ในส่วนของการเติบโต เราสามารถเห็นได้จากเม็ดเงินในการลงทุนใหม่ที่มีมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2009 จนถึงปัจจุบัน และมีมูลค่ากว่า 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี โดยในส่วนที่เม็ดเงินลงทุนมีการไหลเข้ามากที่สุด ได้แก่ พลังงานลม (Wind Power) และพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Power) ซึ่งคิดเป็นกว่า 90% ของเงินลงทุนทั้งหมด โดยกำลังการผลิตของพลังงานลมเพิ่มขึ้นจาก 160 กิกะวัตต์ในปี 2009 เป็น 680 กิกะวัตต์ในปี 2019 หรือคิดเป็นการเติบโตที่ 15.6% ต่อปี ขณะที่กำลังการผลิตของพลังงานแสงอาทิตย์ ทั้งในส่วนของ Solar PV และ Solar Thermal เพิ่มขึ้นจาก 226 กิกะวัตต์ในปี 2009 เป็น 1,106 กิกะวัตต์ในปี 2019 หรือคิดเป็น 17.2% ต่อปี BP Energy ได้คาดการณ์ว่า ด้วยต้นทุนที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจะเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วกว่า 7 เท่า จากระดับปัจจุบันในอีก 20 ปีข้างหน้า (ค.ศ. 2040)

นอกจากนี้เรายังเห็นการเติบโตในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับพลังงานทดแทน โดยเฉพาะการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าส่วนบุคคลที่มีการเติบโตขึ้นในปี 2019 กว่า 2 ล้านคัน หรือคิดเป็น 40% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยเฉพาะในส่วนของรถยนต์ไฟฟ้า 100% (Battery Electric Vehicle) ที่มีการเติบโตสูงทั้งในประเทศอเมริกา ยุโรป และจีน จากเทคโนโลยีของแบตเตอรี่ที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ซึ่งทำให้รถยนต์วิ่งได้ไกลมากขึ้น และทำให้ผู้บริโภคมีค่าใช้จ่ายทั้งต่อระยะทางและการบำรุงรักษาที่ถูกลง และ Bloomberg New Energy Finance (BNEF), International Energy Agency (IEA), OPEC, BP, ExxonMobil, ได้คาดการณ์การเติบโตของจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกใน 20 ปีข้างหน้า (ปี 2040) มีแนวโน้มขยายตัวสูงอยู่ในช่วงระหว่าง 17%-26% ต่อปี โดยอาจมีรถยนต์ไฟฟ้าวิ่งบนท้องถนนทั่วโลก 150-550 ล้านคันภายในปี 2040 คิดเป็นสัดส่วนระหว่าง 31-55% ของยอดขายรถยนต์ทั้งหมด

คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่า แนวโน้มการใช้พลังงานหมุนเวียน หรือพลังงานทดแทนนั้น มีความสำคัญต่อโลกเป็นอย่างมาก จากสภาวะปัญหาของธรรมชาติที่โลกกำลังเผชิญอยู่ อีกทั้งยังสามารถเห็นการพัฒนาและความต้องการได้อย่างชัดเจนจากทั้งด้านผู้ผลิตและผู้บริโภค ประกอบกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรม สนับสนุนการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของธุรกิจพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียน (Renewable Power), การขนส่งที่ใช้พลังงานสะอาด (Clean transportation) และการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน (Energy efficiency) อย่างไรก็ตาม การเติบโตส่วนใหญ่กระจายตัวอยู่ในประเทศที่มีการลงทุนในงานวิจัยและมีทรัพยากรที่จะสนับสนุนนโยบายได้อย่างเพียงพอ ดังนั้น การลงทุนในกลุ่มบริษัทที่เกี่ยวข้องดังกล่าวในต่างประเทศ ในช่วงที่ผลิตภัณฑ์สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างเป็นวงกว้างนั้น น่าจะเป็นอีกจังหวะหนึ่งที่สามารถให้เงินลงทุนและเติบโตสูงต่อเนื่องไปถึงทศวรรษหน้า


กำลังโหลดความคิดเห็น