วานนี้ (26 ต.ค.) นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยคณะทำงานและผู้บริหารกระทรวงพลังงาน เดินทางเยี่ยมชมโครงการพลังงานสร้างอาชีพแบบผสมผสาน ศูนย์พัฒนาเทคโนโลยีการเกษตรและพลังงานทางเลือกกาญจนบุรี ที่ ต.ท่ามะขาม อ.เมือง จ.กาญจนบุรี
ซึ่งเป็นศูนย์เรียนรู้กสิกรรมธรรมชาติโดยใช้แนวคิดการเชื่อมโยงใช้พลังงานแบบผสมผสานในกระบวนการผลิตต่างๆ โดยใช้ทั้งพลังงานจากแสงอาทิตย์ พลังงานชีวมวล พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิล รวมทั้งพลังงานขยะ เพื่อมาบริหารจัดการในกิจกรรมต่างๆ ภายในศูนย์ฯ เช่น การตัดแต่งผักปลอดสารพิษส่งโรงพยาบาล การใช้ตู้เย็นพลังงานร่วมแสงอาทิตย์ ร้านกาแฟพลังงานร่วมแสงอาทิตย์ โครงงานผลิตดินเผาใช้น้ำมันจากพลาสติก โครงงานผลิตน้ำแข็งจากพลังงานแสงอาทิตย์ โครงงานผลิตน้ำมันจากพลาสติก การแปลงเกษตรปลอดสารพิษโดยใช้น้ำจากพลังงานแสงอาทิตย์
ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานมีโอกาสแลกเปลี่ยนกับผู้ร่วมก่อตั้งศูนย์ฯ นางทิวาพร ศรีวรกุล ซึ่งถือเป็นปราชญ์ชาวบ้านที่ได้ริเริ่มแนวคิดจัดการสร้างแหล่งเรียนรู้เพื่อปรับเปลี่ยนการทำเกษตรแบบเคมีมาเป็นเกษตรธรรมชาติ เน้นการวางแผนการใช้ชีวิตที่จะนำไปสู่การพึ่งพาตนเองได้มากขึ้น โดยเริ่มแรกจัดตั้งเป็นศูนย์กสิกรรมธรรมชาติท่ามะขามเมื่อปี 2547 เน้นแนวคิดพึ่งพาตนเอง ตามแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ มุ่งเน้นลดต้นทุนปัจจัยการผลิตโดยการทำปุ๋ยหมัก เลี้ยงสุกรหลุม การแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร เช่น แปรรูปน้ำฟักข้าว เป็นต้น
ต่อมาได้ปรับแนวทางพัฒนาเพิ่มเติม เพราะอาชีพเกษตรกรรมมีผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศที่ไม่แน่นอนจากโรคพืชที่มีความรุนแรงมากขึ้น และเมื่อได้ผลผลิตออกมาก็ไม่สามารถแข่งขันกับพืชผลที่ผลิตจากแปลงที่ใช้สารเคมี หรือการนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านได้ จึงปรับนำข้อดีการเกษตรแบบผสมผสานมาเป็นการทำอาชีพแบบผสมผสานภายใต้ชื่อ “ศูนย์พัฒนาเทคโนโลยีการเกษตร และพลังงานทางเลือก” พร้อมกันนี้ยังได้เห็นความสำคัญของพลังงานที่เป็นตัวแปรหลักของต้นทุนการผลิตในผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยเล็งเห็นว่าหากจะพึ่งพาพลังงานทดแทนเพียงด้านเดียว มีความยุ่งยากทางเทคนิค ด้านการจัดหาวัตถุดิบในการผลิต และผลผลิตที่ได้ก็แข่งขันด้านราคากับการผลิตพลังงานจากอุตสาหกรรมไม่ได้
แต่หากจัดหาพลังงานภายนอกด้านเดียวก็มีต้นทุนไม่คงที่ และแนวโน้มจะสูงขึ้น จึงมีแนวคิดการเชื่อมโยงพลังงานกับการดำเนินชีวิตเข้าด้วยกัน โดยมีการใช้พลังงานผสมผสานหลายรูปแบบเพื่อบริหารจัดการต้นทุนที่เหมาะสมเพื่อสร้างอาชีพสร้างรายได้ของชาวบ้านให้แข่งขันในตลาดได้ ดังตัวอย่าง ร้านกาแฟของศูนย์ฯ มีการใช้พลังงานไฟฟ้าร่วมแสงอาทิตย์กับน้ำมันที่ผลิตจากขยะพลาสติก เป็นต้น
“ศูนย์พัฒนาเทคโนโลยีการเกษตรและพลังงานทางเลือกเป็นหนึ่งในโมเดลความสำเร็จที่ประยุกต์ใช้พลังงานแบบผสมผสานเพื่อลดต้นทุนการผลิตของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ซึ่งกระทรวงพลังงานเล็งเห็นความสำคัญของศูนย์ฯ ที่มีโอกาสในการต่อยอดพัฒนาเป็นโรงไฟฟ้าชุมชนต้นแบบได้ เพราะมีประสบการณ์ในการใช้เชื้อเพลิงแบบผสมผสานหลายเชื้อเพลิงอยู่แล้ว ซึ่งจะทำให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการผลิต ใช้ และจำหน่ายไฟฟ้าเพื่อใช้ประโยชน์ในการประกอบกิจการในพื้นที่ของตนเองอย่างยั่งยืน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกล่าว