xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์” เผยใช้ FTA-GSP ส่งออก 5 เดือนลด 15% แต่ “เกษตร-อาหาร” มาแรงยอดไม่ตก

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมการค้าต่างประเทศเผยการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าช่วง 5 เดือนปี 63 มีมูลค่า 26,068.51 ล้านเหรียญสหรัฐ ลด 15% เหตุได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทำส่งออกภาพรวมลด การใช้สิทธิเลยลดตาม เป็นการใช้สิทธิ FTA ลด 15.87% ใช้สิทธิ GSP ลด 3.52% ชี้กลุ่มเครื่องดื่ม อาหาร เกษตรและเกษตรแปรรูป ยังคงเป็นดาวรุ่ง มีการใช้สิทธิเพิ่มหลังความต้องการพุ่ง

นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า การใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) และภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) ในช่วง 5 เดือนของปี 2563 (ม.ค.-พ.ค.) มีมูลค่า 26,068.51 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 15% มีสัดส่วนการใช้สิทธิประโยชน์ฯ 77.53% ของการใช้สิทธิทั้งหมด แบ่งเป็นการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ FTA มูลค่า 23,980.51 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 15.87% มีสัดส่วนการใช้สิทธิ 77.75% และการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ GSP มูลค่า 2,088 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 3.52% มีสัดส่วนการใช้สิทธิ 75.02% ซึ่งการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าที่ลดลงเพราะได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในหลายประเทศทั่วโลก ทำให้การส่งออกของไทยในภาพรวมชะลอตัวลง จึงส่งผลกระทบทำให้มีการขอใช้สิทธิประโยชน์ฯ ลดลงตามไปด้วย

ทั้งนี้ แม้จะมีการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ลดลง แต่สินค้าเครื่องดื่ม อาหาร เกษตรและเกษตรแปรรูป กลับมียอดการขอใช้สิทธิเพิ่มขึ้นจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยสินค้าที่ขยายตัวสูง เช่น อาหารปรุงแต่ง (สหรัฐฯ อาเซียน) สับปะรดกระป๋อง (รัสเซียและเครือรัฐเอกราช) เนื้อปลาแบบฟิลเล สด แช่เย็น แช่แข็ง (รัสเซียและเครือรัฐเอกราช) สับปะรดปรุงแต่ง (ไทย-ชิลี) ข้าวโพดหวาน (อาเซียน-เกาหลี) กุ้ง (ไทย-ชิลี และอาเซียน-เกาหลี) ชิ้นเนื้อและเครื่องในไก่แช่แข็ง (อาเซียน-จีน) ทุเรียนสด (อาเซียน-จีน) ปลาทูน่า ปลาสคิปแจ็ก และปลาโบนิโต (ไทย-เปรู) ปลาทูน่า-ปรุงแต่ง (ไทย-ออสเตรเลีย) เต้าหู้ปรุงแต่ง (ไทย-ออสเตรเลีย) น้ำผลไม้ (อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์) เป็นต้น

สำหรับรายละเอียดการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ภายใต้ FTA พบว่า ตลาดที่มีการใช้สิทธิสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1. อาเซียน มูลค่า 8,051.04 ล้านเหรียญสหรัฐ 2. จีน มูลค่า 7,816.94 ล้านเหรียญสหรัฐ 3. ญี่ปุ่น มูลค่า 2,888.72 ล้านเหรียญสหรัฐ 4. ออสเตรเลีย มูลค่า 2,446.84 ล้านเหรียญสหรัฐ และ 5. อินเดีย มูลค่า 1,445.18 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วน FTA ที่มีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์ฯ สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1. ไทย-ชิลี ร้อยละ 100 2. อาเซียน-จีน ร้อยละ 89.84 3. ไทย-เปรู ร้อยละ 89.54 4. ไทย-ญี่ปุ่น ร้อยละ 84.30 และ 5. อาเซียน-เกาหลี ร้อยละ 81.92

ส่วนการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ภายใต้ GSP ทั้ง 4 ระบบ คือ สหรัฐฯ สวิตเซอร์แลนด์ รัสเซียและเครือรัฐเอกราช และนอร์เวย์ พบว่า สหรัฐฯ มีการใช้สิทธิสูงสุด มูลค่า 1,905.12 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 4.16% มีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 77.40% รองลงมาคือ สวิตเซอร์แลนด์ มูลค่า 106.36 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 2.68% มีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 46.18% รัสเซียและเครือรัฐเอกราช มูลค่า 66.45 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 12.66% มีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 85.06% และนอร์เวย์ มูลค่า 10.07 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 24.01% มีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 75.71%

นอกจากนี้ ในเดือน ก.ย. 2563 กรมฯ มีแผนงานที่จะจัดสัมมนาในกรุงเทพฯ เพื่อเสริมสร้างความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าภายใต้ FTA และ GSP ให้แก่ผู้ประกอบการและผู้ส่งออกที่สนใจจะสร้างแต้มต่อและโอกาสในการส่งออกสินค้าด้วยสิทธิประโยชน์ดังกล่าว โดยจะจัดแบบคู่ขนาน คือ จัดงานจริงแบบไม่แออัด และถ่ายทอดสดผ่านสัมมนาออนไลน์ และเฟซบุ๊กไลฟ์


กำลังโหลดความคิดเห็น