xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์” เผยใช้ FTA-GSP ส่งออก 4 เดือนลด 13.30% ชี้ “เกษตร-อาหาร” โตแรงช่วงโควิด-19

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมการค้าต่างประเทศเผยการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้า 4 เดือนปี 63 มูลค่า 21,340.04 ล้านเหรียญสหรัฐ ลด 12.08% โดยการใช้สิทธิ FTA ลด 13.30% เหตุได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ส่วนการใช้สิทธิ GSP เพิ่ม 3.87% ชี้สินค้ากลุ่มเครื่องดื่ม อาหาร เกษตรและเกษตรแปรรูป เป็นดาวรุ่ง มีการใช้สิทธิเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า การใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) และภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) ในช่วง 4 เดือนของปี 2563 (ม.ค.-เม.ย.) มีมูลค่า 21,340.04 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 12.08% มีสัดส่วนการใช้สิทธิประโยชน์ฯ 78.11% ของการใช้สิทธิทั้งหมด แบ่งเป็นการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ FTA มูลค่า 19,546.52 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 13.30% มีสัดส่วนการใช้สิทธิ 77.51% และการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ GSP มูลค่า 1,793.52 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 3.87% มีสัดส่วนการใช้สิทธิ 85.25%

ทั้งนี้ การใช้สิทธิประโยชน์ฯ ภายใต้ FTA จำนวน 11 ฉบับ ไม่รวมอาเซียน-ฮ่องกง เนื่องจากภาษีนำเข้าสินค้าส่วนใหญ่เป็น 0% อยู่แล้วก่อนที่จะมีความตกลงฯ และไทย-นิวซีแลนด์ ที่ใช้ระบบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองของผู้ส่งออก ที่ลดลง 13.30% เพราะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้หลายประเทศทั่วโลกมีการปิดเมือง ปิดพรมแดน รวมถึงปิดประเทศชั่วคราว ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตจนไปถึงการขนส่งสินค้า โลจิสติกส์ระหว่างประเทศ ทำให้กระทบต่อการส่งออกในภาพรวม และทำให้การใช้สิทธิประโยชน์ลดลง

อย่างไรก็ตาม แม้หลายสินค้าจะมีการใช้สิทธิลดลง แต่สินค้าในกลุ่มเกษตรและอาหารมีการใช้สิทธิส่งออกเพิ่มขึ้น รวมถึงสินค้าอุปโภคบริโภค เช่น ทุเรียนสด (อาเซียน-จีน) ผลไม้อื่นๆ เช่น ลำไย เงาะ ลางสาด (อาเซียน-จีน) แชมพู (อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์) เครื่องปรับอากาศแบบติดผนัง (อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์) เครื่องใช้บนโต๊ะอาหารและเครื่องครัว (ไทย-เปรู) ปลาทูน่า ปลาสคิปแจ็ก และปลาโบนิโต (ไทย-เปรู) อาหารปรุงแต่งอื่นๆ (อาเซียน) น้ำ รวมถึงน้ำแร่และน้ำอัดลม (อาเซียน) เป็นต้น

ส่วนการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ภายใต้ GSP ซึ่งไทยได้รับสิทธิจำนวน 4 ระบบ คือ สหรัฐฯ สวิตเซอร์แลนด์ รัสเซียและเครือรัฐเอกราช และนอร์เวย์ ที่เพิ่มขึ้น 3.87% มาจากการใช้สิทธิส่งออกไปสหรัฐฯ มากที่สุด มูลค่า 1,644.78 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 3.34% มีสัดส่วนการใช้สิทธิ 89.63% รองลงมาคือ สวิตเซอร์แลนด์ มูลค่า 85.26 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 6.84% มีสัดส่วนการใช้สิทธิ 44.05% รัสเซียและเครือรัฐ มูลค่า 55.30 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 12.57% มีสัดส่วนการใช้สิทธิ 85.76% และนอร์เวย์ มูลค่า 8.18 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 33.01% มีสัดส่วนการใช้สิทธิ 77.54%

สำหรับสินค้าที่มีมูลค่าการใช้สิทธิสูง และมีการขยายตัวของการใช้สิทธิสูง ส่วนใหญ่เป็นสินค้าเครื่องดื่ม อาหาร และเกษตรแปรรูป ที่เป็นที่ต้องการในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 เช่น อาหารปรุงแต่งอื่นๆ (สหรัฐฯ) น้ำผลไม้และน้ำพืชผักที่ไม่ได้หมักและเติมสุรา (สหรัฐฯ) สับปะรดกระป๋อง (รัสเซียและเครือรัฐเอกราช) พืชและผลไม้ปรุงแต่ง (รัสเซียและเครือรัฐเอกราช) น้ำสับปะรด (สวิตเซอร์แลนด์) ปลาทูน่ากระป๋อง (สวิตเซอร์แลนด์) ข้าว (นอร์เวย์) ผลไม้ปรุงแต่ง (นอร์เวย์) เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น