xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์” ตีทะเบียน GI อีก 2 สินค้า พริกไทยจันท์-ลำไยพวงทองบ้านแพ้ว

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมทรัพย์สินทางปัญญาขึ้นทะเบียน GI รายการใหม่อีก 2 สินค้า “พริกไทยจันท์-ลำไยพวงทองบ้านแพ้ว” มั่นใจช่วยเพิ่มรายได้ให้ชุมชน ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก พร้อมเดินหน้าเพิ่มช่องทางตลาด เตรียมจัดงาน GI Market 2020 ที่เซ็นทรัลแจ้งวัฒนะ และกิจกรรมตลาด GI ที่ศูนย์การค้าเอ็มบีเค
นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้ประกาศขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) เพิ่มอีก 2 รายการ คือ พริกไทยจันท์ จังหวัดจันทบุรี และลำไยพวงทองบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร โดยมั่นใจว่าการขึ้นทะเบียน GI จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าของชุมชน ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกสินค้าทั้ง 2 ชนิด มีรายได้เพิ่มขึ้น และช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง

สำหรับสินค้า GI 2 รายการล่าสุด มีเอกลักษณ์โดดเด่น โดยพริกไทยจันท์ ครอบคลุมพริกไทยแห้งทั้งเม็ดและป่น รสชาติเผ็ดร้อน กลิ่นหอมฉุนเป็นเอกลักษณ์ มี 2 สายพันธุ์ ได้แก่ พันธุ์จันทบุรี และพันธุ์คุชชิ่ง ปลูกและแปรรูปในจังหวัดจันทบุรี ซึ่งมีสภาพภูมิประเทศเป็นภูเขา เนินเขา ดินร่วนปนทราย น้ำไหลผ่านได้ดี ไม่เป็นพื้นที่น้ำท่วมขัง เอื้ออำนวยต่อการปลูกพริกไทย และได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ

ส่วนลำไยพวงทองบ้านแพ้ว เป็นลำไยพันธุ์พวงทอง รสชาติหวานกรอบ ผลค่อนข้างเบี้ยว เมล็ดเล็ก เนื้อหนา แห้ง ไม่แฉะ เนื้อใสจนเห็นเมล็ด ผิวเปลือกเรียบสีน้ำตาลอ่อน ซึ่งปลูกในเขตอำเภอบ้านแพ้ว และอำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร มีแม่น้ำท่าจีนไหลผ่าน มีสภาพดินเป็นดินเหนียวอุดมสมบูรณ์ บริเวณผิวดินมีอนุมูลของโพแทสเซียม (K+) ที่จำเป็นต่อการสร้างน้ำตาลของลำไย ส่งผลให้ลำไยพวงทองบ้านแพ้ว มีความหวาน รสชาติถูกปากผู้บริโภค

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีการประกาศขึ้นทะเบียนสินค้า GI ไทย ไปแล้วทั้งสิ้น 128 รายการ โดยยังมีสินค้าไทยที่อยู่ในขั้นตอนประกาศโฆษณาเพื่อเตรียมขึ้นทะเบียน GI อีก 6 รายการ

อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการเพิ่มช่องทางการตลาดให้แก่สินค้า GI กรมทรัพย์สินทางปัญญาจะมีการจัดงาน GI Market 2020 ครั้งที่ 2 ในวันที่ 24-30 ส.ค. 2563 ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา แจ้งวัฒนะ และกิจกรรมตลาด GI ในวันที่ 15-18 ก.ย. 2563 ณ ศูนย์การค้า เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ โดยขอเชิญชวนให้ประชาชนร่วมสนับสนุนสินค้า GI เพื่อช่วยเพิ่มรายได้ให้ผู้ผลิต ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น


กำลังโหลดความคิดเห็น