กรมทรัพย์สินทางปัญญาลงพื้นที่รับคำขอขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) “มังคุดเขาคีรีวง” เป็นสินค้ารายการใหม่ของจังหวัดนครศรีธรรมราช เตรียมตรวจสอบก่อนพิจารณาขึ้นทะเบียนต่อไป เผยยังพบ “เครื่องจักสานย่านลิเภาเมืองนคร และผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติคีรีวง” ที่สามารถผลักดันขึ้นทะเบียน GI ได้ด้วย
นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมสรุปการจัดทำคำขอขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) สินค้ามังคุดเขาคีรีวง ณ ห้องประชุม ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวบ้านคีรีวง จ.นครศรีธรรมราช ร่วมกับคณะผู้แทนจากหน่วยงานในจังหวัด เช่น สำนักงานพาณิชย์จังหวัด สำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ตลอดจนผู้ผลิตและผู้ประกอบการในพื้นที่ว่า กรมฯ ได้รับคำขอขึ้นทะเบียน GI สินค้ามังคุดเขาคีรีวง จากนายวิรัตน์ ตรีโชติ หัวหน้ากลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมชุมชนคีรีวง ซึ่งเป็นตัวแทนของกลุ่มเกษตรกร และจากนี้ไปกรมฯ จะดำเนินการตรวจสอบรายละเอียดคำขอ และพิจารณารับขึ้นทะเบียน GI ต่อไป
ทั้งนี้ กรมฯ และคณะยังได้ตรวจเยี่ยมแหล่งผลิตมังคุดเขาคีรีวงในพื้นที่ อ.ลานสกา เพื่อตรวจสอบกระบวนการผลิต และพิสูจน์คุณภาพ ความอร่อย ของสินค้าดังกล่าว พร้อมกับได้แนะนำคู่มือปฏิบัติงานสำหรับสมาชิกผู้ที่จะขอใช้ตราสัญลักษณ์ GI และแผนการควบคุมตรวจสอบสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ให้กับกลุ่มเกษตรกรด้วย
สำหรับมังคุดคีรีวง ส่วนใหญ่ปลูกในพื้นที่ ต.กำโลน ต.ท่าดี และ ต.เขาแก้ว ของ อ.ลานสกา ซึ่งอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลมากกว่า 200 เมตร มีฝนชุกและเป็นพื้นที่ป่าเขาที่อุดมสมบูรณ์ สามารถเพาะปลูกมังคุดด้วยวิธีธรรมชาติ ทำให้ได้ผลผลิตที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น มีผลใหญ่ เนื้อสีขาว รสชาติเปรี้ยวอมหวาน ลูกกลม เปลือกหนา ผิวมันวาว กลีบขั้ว สีเขียวสด ก้นรี ผลขนาดใหญ่มีน้ำหนักถึง 4 ลูกต่อ 1 กิโลกรัม เปลือกหนาประมาณ 1 เซนติเมตร เมล็ดไม่ใหญ่ สามารถขายได้ราคากิโลกรัมละ 400-500 บาท
ขณะเดียวกัน กรมฯ ได้ทำการสำรวจสินค้าชุมชนของ จ.นครศรีธรรมราช ที่มีศักยภาพและมีโอกาสที่จะผลักดันเป็นสินค้า GI รายการใหม่ในอนาคต โดยพบว่ามีสินค้าและผลิตภัณฑ์ชุมชนอีกหลายรายการที่เข้าข่ายอาจขึ้นทะเบียน GI ได้ เช่น เครื่องจักสานย่านลิเภาเมืองนคร ผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติคีรีวง ซึ่งกรมฯ จะประสานงานร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ศึกษารายละเอียดความเป็นไปได้ในการจัดทำคำขอ และผลักดันให้ขึ้นทะเบียน GI เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าชุมชน สร้างรายได้ให้ชุมชน และสร้างความเข้มแข็งให้แก่เศรษฐกิจฐานราก
ก่อนหน้านี้ กรมฯ ได้ขึ้นทะเบียน GI สินค้าส้มโอทับทิมสยามปากพนัง เป็นรายการแรกของ จ.นครศรีธรรมราช มาตั้งแต่ปี 2555 โดยส้มโอทับทิมสยามปากพนังมีคุณภาพและเอกลักษณ์ที่โดดเด่น สามารถครองใจผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ และสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนอย่างเป็นกอบเป็นกำมาแล้ว