พลังงานบริสุทธิ์ยันไม่มีแผนเพิ่มทุนแม้ว่าจะมีโครงการลงทุนขนาดใหญ่โดยเฉพาะโครงการเตรียมหาพันธมิตรใหม่เข้าถือหุ้นโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ 2 โครงการในลาว โดยจะลดสัดส่วนการถือหุ้นจากเดิม 50% เหลือ 40%
นายอมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) (EA) เปิดเผยว่า บริษัทฯ ยังไม่มีแผนเพิ่มทุนจดทะเบียนในช่วงนี้ แม้ว่าจะมีการลงทุนจำนวนมากในการลงทุนโครงการใหญ่หลายโครงการ โดยเฉพาะโครงการพัฒนาแหล่งน้ำธรรมชาติของ สปป.ลาว เพื่อสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าจำนวน 2 โครงการ ได้แก่ Saravan Downsteam Hydropower Project และ Phamong Hydropower Project กำลังการผลิตรวมประมาณ 3,000 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุนเมกะวัตต์ละ 60 ล้านบาท หรือคิดเป็นเงินรวม 1.8 แสนล้านบาท
โครงการดังกล่าว บริษัทฯ ร่วมกับพันธมิตรอีก 3 ราย (ผู้ร่วมพัฒนา) ได้แก่ Chaleun Sekong Energy Company Limited, สปป.ลาว, Vega Digital Company Limited, ประเทศไทย และ PSL Service Sole company Limited, สปป.ลาว โดยปัจจุบันบริษัทฯ ถือหุ้นในโครงการดังกล่าว 50% บริษัทพิจารณายอมตัดขายหุ้นบ้างหรือลดการถือหุ้นลงเหลือ 40% โดยหาพาร์ตเนอร์ใหม่เข้ามาถือหุ้น โดยที่บริษัทยังถือหุ้นใหญ่อยู่ทำให้บริษัทมีพรีเมียมจากการขายหุ้นดังกล่าวและลดการใส่เงินลงทุนด้วย
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังสามารถบริหารจัดการด้านการเงินเพื่อใช้สำหรับขยายการลงทุนในอนาคตได้ เนื่องจากปัจจุบันมีกระแสเงินสด (Cash Flow) จากการดำเนินธุรกิจไฟฟ้าเฉลี่ยปีละกว่า 1 หมื่นล้านบาท และหากโรงงานแบตเตอรี่เฟสแรก ขนาด 1 กิกะวัตต์แล้วเสร็จ ก็จะมีกระแสเงินสดเพิ่มขึ้นอีก ขณะที่เงินลงทุนในโครงการเขื่อนใน สปป.ลาว เชื่อว่ายังสามารถบริหารจัดการได้ เพราะกว่าเขื่อนจะสร้างเสร็จก็คงต้องใช้เวลาประมาณ 7 ปี ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้ใช้เงินจำนวนมากเพราะอยู่ระหว่างการศึกษาโครงการประมาณ 2 ปี รวมทั้งมีอัตราหนี้สินต่อทุน (D/E) อยู่ที่ 2 เท่าจากที่บริษัทกำหนด D/E ไม่เกิน 3 เท่า ทำให้มีโอกาสกู้เงินเพื่อใช้ลงทุนได้อีก
“ปัจจุบันบริษัทฯ มี cash flow โดยเฉพาะจากธุรกิจโรงไฟฟ้าจะเข้ามากว่า 1 หมื่นล้านบาทต่อปี สามารถบริหารจัดการเพื่อใช้สำหรับขยายการลงทุนในอนาคต แม้ว่าบริษัทฯ จะมีโปรเจกต์ลงทุนเข้ามาต่อเนื่อง แต่เชื่อว่ายังสามารถบริหารจัดการได้โดยยังไม่จำเป็นต้องเพิ่มทุน” นายอมรกล่าว
นอกจากนี้ บริษัทฯ เตรียมหาพันธมิตรทางธุรกิจที่มีความเชี่ยวชาญเพื่อพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์สารเปลี่ยนสถานะ (Phase Change Material : PCM) ไปเจาะตลาดอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม นอกเหนือจากการนำไปใช้ในอุตสาหกรรมรับเหมาก่อสร้าง โดยบริษัทได้จัดส่งสาร PCM ไปทดสอบคุณสมบัติและมาตรฐานเพื่อนำไปผลิตเป็นเสื้อผ้ากันความร้อนหรือหนาวกับบริษัทต่างชาติทั้งอินเดีย จีนและไทย คาดว่าจะมีความชัดเจนใน 2-3 เดือนข้างหน้า
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันบริษัทฯ ได้ส่งออกสาร PCM ไปญี่ปุ่นเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้างอาคารและที่อยู่อาศัย แต่พบว่าความต้องการใช้สาร PCM ในตลาดญี่ปุ่นยังไม่มากพอ ขณะที่ตลาดในไทยก็ยังไม่มีข้อบังคับเรื่อง Zero Energy House ซึ่งเป็นการอนุรักษ์พลังงาน โดยสาร PCM จะช่วยในการรักษาอุณหภูมิและลดการใช้พลังงานไฟฟ้าจากเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความร้อนได้ ทำให้การใช้สาร PCM ในไทยยังไม่แพร่หลาย เนื่องจากมีต้นทุนสูง ส่งผลให้บริษัทเดินเครื่องจักรผลิตสาร PCM ราว 30-40% ของกำลังผลิต