ส.อ.ท.เผยดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม มิ.ย. 63 ปรับตัวดีขึ้นเป็นเดือนที่ 2 หลังจากเริ่มคลายล็อกดาวน์ต่อเนื่อง แต่ยังกังวลเรื่องสภาพคล่องของเอสเอ็มอีที่ยังเข้าไม่ถึงสินเชื่อ โดย Soft loan ธปท. 5 แสนล้านบาทปล่อยได้แค่แสนล้านบาทเท่านั้น
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนมิถุนายน 2563 ว่า ค่าดัชนีฯ อยู่ที่ระดับ 80.0 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 78.4 ในเดือนพฤษภาคม 63 ซึ่งเป็นการปรับตัวเป็นเดือนที่ 2 เนื่องจากปัจจัยบวกจากการที่รัฐบาลผ่อนปรนมาตรการควบคุมโควิด-19 ระยะที่ 3 และ 4 รวมทั้งยกเลิกคำสั่งห้ามออกนอกเคหสถาน (เคอร์ฟิว) ทำให้ผู้ประกอบการกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้มากขึ้น ขณะเดียวกัน เดือน มิ.ย.จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 อยู่ระดับต่ำทำให้ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นมากขึ้น
“แม้ความเชื่อมั่นจะดีขึ้นแต่ก็ยังคงอยู่ระดับต่ำกว่าระดับ 100 เพราะมีความกังวลเรื่องสภาพคล่อง และการเข้าไม่ถึงสินเชื่อโดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) ปัญหาค่าเงินบาทแข็ง ขณะที่ดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ระดับ 90.1 ลดลงจากระดับ 91.5 เพราะยังกังวลยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลกที่ยังสูงอยู่” นายสุพันธุ์กล่าว
สำหรับข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ ต้องการให้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น 1. ขอให้การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐสนับสนุนการซื้อสินค้าที่ผลิตในประเทศไทย (Made in Thailand) เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไทย 2. ขอให้บรรษัทประกันสินเชื่อขนาดย่อม (บสย.) เข้ามาค้ำประกันสินเชื่อที่ธนาคารพาณิชย์ปล่อยกู้ตามวงเงินกู้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) 5 แสนล้านบาทต่อหลังจากหมด พ.ร.ก.เงินกู้ เพื่อจูงใจให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อให้ผู้ประกอบการได้ง่ายขึ้น รวมทั้งออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพิ่มเติมเพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในส่วนของภูมิภาคอื่นๆ นอกเหนือจากพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)
นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธาน ส.อ.ท.กล่าวว่า ปัจจัยลบดัชนีเชื่อมั่นในเดือนนี้มาจากการที่เอสเอ็มอียังคงขาดสภาพคล่อง เข้าไม่ถึงแหล่งสินเชื่อ ซึ่งล่าสุดเงินกู้ ธปท. วงเงิน 5 แสนล้านบาทปล่อยได้เพียง 1 แสนล้านบาทเท่านั้นหรือคิดเป็นเพียง 20% ขณะเดียวกันยังพบว่าแนวโน้มบาทยังคงแข็งค่า และต้นทุนผุ้ประกอบการสูงขึ้นจากราคาน้ำมัน วัตถุดิบ
“ดัชนีเชื่อมั่นของอุตสาหกรรมขนาดย่อม (รายได้ไม่เกิน 100 ล้านบาท) ลงมาเหลือ 54.9 ยอมรับว่าน่าเป็นห่วง เช่น อุตสาหกรรมสิ่งทอ สมุนไพร ไม้อัดไม้เบา เป็นต้น ขนาดกลางปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ 83.7 และขนาดใหญ่ปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 101.1 เนื่องจากหลายอุตสาหกรรมเริ่มกลับมาฟื้นตัว เช่น อะลูมิเนียม ปิโตรเคมี เป็นต้น” นายมนตรีกล่าว