รฟม.คาดปลายปีปิดดีลประมูลสายสีส้ม ชง ครม.เซ็นสัญญาต้นปี 64 เร่ง พ.ร.ฎ.เวนคืนคู่ขนาน เตรียมพื้นที่ส่งมอบใน 6 เดือน จ่อรื้อผลศึกษารถไฟฟ้าภูมิภาค พิษโควิดกระทบยอดผู้โดยสาร ปลาย ส.ค. ลงพื้นที่ทดสอบนักลงทุนชี้ชะตา “แทรมป์ภูเก็ต”
นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า จากที่ รฟม.ได้เปิดขายเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (Request for Proposal Documents : RFP) เป็นผู้ร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ซึ่งมีเอกชน 10 รายซื้อเอกสาร ซึ่ง รฟม.ได้จัดประชุมชี้แจงการคัดเลือกแก่เอกชนไปแล้ว และกำหนดให้เอกชนยื่นข้อเสนอในวันที่ 23 ก.ย. 2563 โดยให้ยื่นเอกสารข้อเสนอ 3 ซอง คือ 1. คุณสมบัติเบื้องต้น 2. ข้อเสนอทางเทคนิค 3. ข้อเสนอด้านราคา โดยจะต้องผ่านการพิจารณาซองที่ 1 และ 2 ก่อนจึงจะได้รับสิทธิ์เปิดซองราคา
คุณสมบัติเบื้องต้น จะเน้นประสบการณ์ของผู้รับจ้าง โดยเฉพาะการก่อสร้างงานใต้ดิน เพราะโครงสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มด้านตะวันตกเป็นระบบใต้ดินค่อนข้างมาก ส่วนข้อเสนอทางเทคนิค จะใช้เกณฑ์ผ่านหรือไม่ผ่าน จากนั้นจะเปิดข้อเสนอด้านราคา ซึ่งจะเป็นการเปรียบเทียบข้อเสนอของผู้ยื่นข้อเสนอแต่ละรายที่เป็นประโยชน์ต่อรัฐมากที่สุด ซึ่งเป็นรูปแบบคล้ายกับการประมูลของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และเมืองการบินอู่ตะเภา
สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม มีค่างานโยธาประมาณ 96,000 ล้านบาท ค่าระบบรถไฟฟ้าประมาณ 30,000 ล้านบาท โดยผู้ที่ขอให้รัฐอุดหนุนการลงทุนน้อยที่สุดจะเป็นผู้ได้รับคัดเลือก ส่วนจะใช้เวลาในการพิจารณาผลประมูลนานแค่ไหนขึ้นอยู่กับจำนวนผู้ยื่นประมูล คาดว่าจะสรุปผลและได้ตัวผู้ชนะประมูล ปลายปี 2563 จากนั้นเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พร้อมร่างสัญญา และคาดว่าจะลงนามในสัญญาร่วมลงทุนได้ภายในไตรมาส 1/2564
นอกจากนี้ รฟม.จะต้องเร่งวางแผนในการส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนหลังลงนามสัญญาด้วย ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการร่าง พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดินของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์ ระยะทาง 13.4 กม. คู่ขนาน หากสามารถออกร่าง พ.ร.ฎ.เวนคืนฯ ได้ภายใน 2-3 เดือนนี้ รฟม.จะเริ่มดำเนินการเวนคืนทันที ซึ่งตามปกติต้องใช้เวลาในการดำเนินการประมาณ 6 เดือน หรือ 180 วัน โดยจุดใหญ่ที่จะมีการเวนคืน คือบริเวณชุมชนห้วยขวาง
สำหรับรถไฟฟ้าสายสีส้ม ลงทุน PPP Net Cost ก่อสร้างช่วงตะวันตก ติดตั้งจัดหาระบบรถไฟฟ้า และรับสัมปทานเดินรถตลอดสายจากมีนบุรี-ศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์ ระยะทาง 35.9 กม. ระยะเวลา 30 ปี วงเงินรวม 128,128 ล้านบาท โดยรัฐจ่ายค่าเวนคืน 14,611 ล้านบาท มีพื้นที่รวม 505 แปลง หรือ 41 ไร่ 1 งาน 96 ตร.ว. รวม 331 หลัง และสนับสนุนเงินลงทุนเอกชนไม่เกินค่างานโยธา 96,012 ล้านบาท เป็นระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 10 ปี
@ จ่อรื้อผลศึกษารถไฟฟ้าภูมิภาค พิษโควิดกระทบยอดผู้โดยสาร
สำหรับโครงการรถไฟฟ้าในภูมิภาค จังหวัดภูเก็ต เชียงใหม่ และนครราชสีมานั้น ผู้ว่าฯ รฟม.กล่าวว่า การศึกษารายละเอียดความเหมาะสมของโครงการมีความล่าช้าจากแผนงาน เนื่องจากสถานการณ์โรคโควิด-19 ทำให้ไม่สามารถลงพื้นที่เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน นักลงทุนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้ ซึ่งขณะนี้สถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลายแล้ว จะมีการลงพื้นที่อีกครั้ง เริ่มที่ จ.ภูเก็ต ช่วงปลายเดือน ส.ค.นี้ เพื่อจัดประชุมทดสอบความสนใจของภาคเอกชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (Market Sounding) อีกครั้ง และในเดือน ก.ย.จะทำ Market Sounding โครงการรถไฟฟ้า จังหวัดเชียงใหม่ และต่อด้วยจังหวัดนครราชสีมา
ทั้งนี้ ประเมินผลกระทบจากการเกิดโรคโควิด-19 จะส่งผลต่อตัวเลขผลตอบแทนที่ออกมาจะไม่คุ้มค่าในการลงทุนแน่นอน เพราะการเดินทางและท่องเที่ยวไม่มี และสภาพเศรษฐกิจซบเซา ดังนั้นจะต้องศึกษา เพื่อประเมินหลังจากโควิด-19 ยุติว่าสถานการณ์เป็นอย่างไร หากคาดว่าจะกลับมาเหมือนเดิม โดยใช้ระยะเวลาไม่นาน สามารถใช้ผลการศึกษาเดิมดำเนินโครงการต่อ แต่หากประเมินแล้วการเดินทาง การท่องเที่ยวจะลดลง และใช้เวลานานหลายปี จะต้องทบทวนการศึกษาใหม่
“โครงการรถไฟฟ้าภูมิภาคทุกแห่งต้องปรับแผนงานตารางโครงการออกไปประมาณ 3-6 เดือน ต้องศึกษาผลกระทบ เช่น ปริมาณผู้โดยสาร เพื่อให้การลงทุนมีความคุ้มค่ามากที่สุด ดังนั้นตอนนี้ยังตอบไม่ได้ว่าต้องชะลอหรือเลื่อนโครงการออกไปมากน้อยแค่ไหน”