xs
xsm
sm
md
lg

ส่อแววพับ! โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินระยะ 2 ระยอง-จันทบุรี-ตราด

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ตราด - ส่อแววพับ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินระยะ 2 ส่วนต่อขยาย ระยอง-จันทบุรี-ตราด หลังผลศึกษาไม่คุ้มค่าการลงทุน ด้านประชาชนพื้นที่เสียดายไม่มีทางเลือกเดินทาง

วันนี้ (4 ส.ค.) ว่าที่ ร.ต.วิเชียน ลิมป์หวังอยู่ ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด เป็นประธานรับฟังความคิดเห็นผลสรุปการศึกษาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ระยะ 2 ส่วนต่อขยาย ระยอง-จันทบุรี-ตราด ที่ห้องประชุมโรงแรมเอวาด้า ต.วังกระแจะ อ.เมืองตราด โดยมี นายสุชีพ สุขสว่าง วิศวกรใหญ่ฝ่ายโครงการพิเศษและก่อสร้าง การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และบริษัทที่ปรึกษาเข้าร่วม พร้อมหัวหน้าส่วนราชการ ภาคเอกชนและประชาชนกว่า 300 คน

โดย นายสุชีพ สุขสว่าง วิศวกรใหญ่ฝ่ายโครงการพิเศษและก่อสร้าง การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เผยถึงการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงระยะที่ 2 ที่จะต่อยอดโครงการรถไฟความเร็วสูงระยะแรกเชื่อม 3 สนามบิน ว่า ขณะนี้ได้ผู้รับเหมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และคาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จได้ในปี 2571 โดยเฉพาะส่วนเชื่อมจากสนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินอู่ตะเภา ที่คาดว่าน่าจะแล้วเสร็จก่อนจึงจะเริ่มการพัฒนาในส่วนเชื่อมต่อระยะที่ 2 สนามบินอู่ตะเภา มายังสถานีจอดที่ อ.บ้านฉาง เมืองระยอง สถานีแกลง สถานี จ.จันทบุรี และสถานีจอดใน จ.ตราด ได้


ผลศึกษาพบไม่คุ้มค่าลงทุน

แต่อย่างไรก็ดี จากการศึกษาความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ พบว่า มีค่าเพียง 5.3% ซึ่งเป็นตัวเลขที่ถือว่าไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจ และหากจะให้เข้าเกณฑ์ต้องมีค่าตัวเลขที่ 12% ซึ่งหากจะเดินหน้าผลักดันโครงการให้เกิดขึ้นจริงจะต้องมีการผลักดันจากภาคการเมืองและจะต้องมีภาคเอกชนเข้าร่วมลงทุนกับรัฐบาล

เนื่องจากโครงการฯ มีระยะทางทั้งสิ้น 190 กิโลเมตร (แบ่งเป็นทางยกระดับ 164 กิโลเมตร ทางระดับดิน 26 กิโลเมตร) ผ่าน 3 จังหวัดคือ ระยอง จันทบุรี และตราด

โดยจะมีสถานีจอดใน 3 จังหวัด ประกอบด้วย สถานีจอดใน จ.ระยอง 2 แห่งคือ บริเวณวัดน้ำคอกเก่า ซึ่งเป็นจุดที่อยู่ห่างจากเมืองระยองประมาณ 5 กิโลเมตร และจะมีศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟ (Depot) อยู่ในบริเวณเดียวกัน และสถานีแกลง บริเวณแยกหมอ เปลี่ยนห่างจากเมืองแกลงประมาณ 2 กิโลเมตร

สถานีใน จ.จันทบุรี ที่บริเวณใกล้แยกเขาไร่ยา จุดตัดถนนสุขุมวิท เพื่อเชื่อมถนน 316 เข้าสู่ใจกลางเมืองจันทบุรี

และสถานีจอดใน จ.ตราด จะอยู่ใกล้กับสำนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดตราด ซึ่งตั้งอยู่บนถนนสุขุมวิท ห่างจากตัวเมืองประมาณ 2 กิโลเมตร

ภายใต้ระยะเวลาการเดินทางจากสนามบินอู่ตะเภา มายัง จ.ตราด ประมาณ 64 นาที ส่วนการเดินทางจากสนามบินดอนเมือง มายังสถานีจอดใน จ.ตราด จะใช้เวลาประมาณ 110 นาที ด้วยความเร็วสูงสุด 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง





ทั้งนี้ ผลการศึกษาโครงการเต็มแผนในปีแรกยังคาดว่าจะมีผู้โดยสารเข้าใช้บริการประมาณ 7,429 คนต่อวัน และภายในระยะเวลา 30 ปี จะมีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเป็น 19,575 คนต่อวัน

ขณะที่เม็ดเงินลงทุนทั้งสิ้น 101,000 ล้านบาท และยังมีค่าบริหารโครงการตลอด 30 ปี อีกจำนวน 57,383 ล้านบาท ซึ่งในเบื้องต้นจึงไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจ แต่หากลงทุนในระยะที่ 2 ถึงสถานีแกลง ผลการศึกษามีความคาดหวังว่าอาจจะคุ้มทุนมากขึ้น

โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กระทรวงคมนาคม ได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ประกอบด้วย บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ทีแอลที คอนซัลแตนส์ จำกัด บริษัท วิศวกรรมธรณีและฐานราก จำกัด บริษัท เอ็มเอชพีเอ็ม จำกัด และบริษัท ดาวฤกษ์ คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด ให้ศึกษาความเหมาะสมด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ สังคม การเงิน และแนวทางการลงทุนที่เหมาะสม ตลอดจนงานออกแบบเบื้องต้น โดยมีระยะเวลาดำเนินงานโครงการเชื่อมต่อฯ ระยะที่ 2 จำนวน 240 วัน




ด้าน ว่าที่ ร.ต.พิเชียน กล่าวว่าหากโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ระยะ 2 ส่วนต่อขยายจังหวัดระยอง –จันทบุรี – ตราด ก่อสร้างได้สำเร็จจะทำให้ จ.ตราด ซึ่งมีแหล่งท่องเที่ยวสวยงามและยังมีพื้นที่ติดต่อกับชายแดนไทย-กัมพูชา สามารถยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นได้อีกมาก

ที่สำคัญในวันนี้ จ.ตราด มีเขตเศรษฐกิจพิเศษที่สามารถรองรับความเจริญเติบโตในอนาคต ซึ่งการจัดเวทีเพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในวันนี้จะทำให้การพิจารณาเกี่ยวกับการดำเนินโครงการฯ สมบูรณ์มากขึ้น


ชาวตราดเสียดายหากไม่เกิดทางเลือกการเดินทาง

ขณะที่ความคิดเห็นของประชาชนและภาคส่วนต่างๆ ที่เข้าร่วมการประชุมส่วนใหญ่เห็นว่า ร.ฟ.ท.และบริษัทที่ปรึกษาควรคำนึงถึงผลได้และผลเสียในการเวนคืนที่ดินบริเวณแนวเส้นทางที่รถไฟความเร็วสูงจะผ่านว่าจะเกิดประโยชน์และสร้างความคุ้มค่าให้เกิดขึ้นในพื้นที่ได้หรือไม่

นอกจากนั้น หลายคนยังผิดหวังที่ในอนาคตอาจไม่สามารถดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงมายัง จ.ตราด ได้ด้วยข้อจำกัดทางเศรษฐกิจ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว จ.ตราด มีศักยภาพทางธุรกิจการท่องเที่ยวและยังเป็นเมืองชายแดน ที่น่าจะมีรถไฟความเร็วสูงเป็นทางเลือกให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวในการเดินทาง




กำลังโหลดความคิดเห็น