xs
xsm
sm
md
lg

รฟท.ศึกษา PPP “ไฮสปีด 3 สนามบินเฟส 2” คาดลงทุนแสนล้าน ขยายเชื่อมระยอง-ตราด

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รฟท.ฟังเสียงนักลงทุน รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินระยะ 2 “ระยอง-จันทบุรี-ตราด” วงเงินแสนล้าน เผย ส.ค.สรุปรูปแบบ PPP วางแนวร่วมรถไฟทางคู่ “ศรีราชา-มาบตาพุด” ลดเวนคืน ตั้งเป้าประมูลปี 67 ก่อสร้าง 4 ปี เปิดบริการปี 71

วันนี้ (24 ก.ค. 63) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้จัดการประชุมเพื่อประเมินความสนใจเบื้องต้นของภาคเอกชน (Market Sounding) โครงการวิเคราะห์และศึกษาความเหมาะสมด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ สังคมการเงิน และแนวทางการลงทุนที่เหมาะสม ตลอดจนงานออกแบบเบื้องต้นโครงการรถไฟความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบิน ระยะที่ 2 ส่วนต่อขยายจังหวัดระยอง-จันทบุรี-ตราด เพื่อเป็นการระดมความเห็นและข้อเสนอแนะจากภาคเอกชน สำหรับการสรุปรูปแบบการร่วมลงทุนพัฒนาโครงการ โดยมี ตัวแทนหน่วยงานจากภาครัฐ ภาคธุรกิจ กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ กลุ่มธนาคาร กลุ่มนักลงทุน สมาคมการค้า ทั้งในประเทศและต่างประเทศร่วมประมาณ 300 คน

นายสุชีพ สุขสว่าง วิศวกรใหญ่ฝ่ายโครงการพิเศษและก่อสร้าง รฟท.กล่าวว่า บริษัทที่ปรึกษาจะศึกษาความเหมาะสมทุกด้าน พร้อมกับประมาณค่าก่อสร้าง ซึ่งในการกำหนดแนวเส้นทางจะพิจารณาร่วมกับแนวเส้นทางโครงการรถไฟทางคู่ ศรีราชา-มาบตาพุด โดยจะใช้พื้นที่ร่วมกันให้มากที่สุด เพื่อลดการเวนคืน แต่ทั้งนี้ วัตถุประสงค์ของรถไฟทางคู่ต้องการเข้าสู่พื้นที่ชุมชน ระยะห่างแต่ละสถานีไม่เกิน 10 กม. แต่รถไฟความเร็วสูงต้องการความเร็ว เส้นทางจำเป็นต้องตรงที่สุด สถานีจะเน้นจุดใหญ่ๆ เท่านั้น

โดยจะสรุปผลการศึกษารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินระยะที่ 2 ในเดือน ส.ค. 2563 ซึ่งในมุมมองของ รฟท.เห็นว่าโครงการต่อขยายรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินระยะที่ 2 จากอู่ตะเภา-ระยอง ควรได้รับอนุมัติ ในช่วงที่รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินก่อสร้าง เพราะหากเริ่มโครงการระยะ 2 ได้เร็วจะทำให้เสร็จได้ทันกันระยะแรก ซึ่งจะมีผลดีต่อการเดินทาง ที่ไม่ใช่เฉพาะการเดินทางเชื่อมระหว่าง 3 สนามบินแต่จะเป็นการเชื่อมเมืองกับเมือง ตั้งแต่กรุงเทพ-ระยอง ซึ่งจะมีทั้งประชาชน นักท่องเที่ยว นักธุรกิจ ซึ่งจะสะดวกมากขึ้น เพราะสามารถเดินทางได้ภายในวันเดียว

“หลักการประมูลจะต้องเปิดกว้าง ซึ่งการลงทุนมีหลายรูปแบบ และการทยอยก่อสร้างเป็นเฟส เพื่อให้เหมาะสมกับจำนวนผู้โดยสาร อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ อีอีซีต้องการเร่งรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินเฟส 2 ในช่วงแรกให้ต่อขยายไปถึงจังหวัดจันทบุรี แต่ขณะนี้เป็นภาวะที่ประเทศต้องยังงบประมาณในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ จากผลกระทบโรคโควิด-19 ดังนั้น การผลักดันโครงการให้เร็วตามที่วางแผนไว้ตั้งแต่แรกหรือต้องขึ้นกับกับนโยบายจะพิจารณาอย่างไร”

ทั้งนี้ ในการนำเสนอผลการศึกษาของที่ปรึกษาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ระยะที่ 2 ส่วนต่อขยายจังหวัด ระยอง-จันทบุรี-ตราด ผ่าน 11 อำเภอ 3 จังหวัด มีระยะทาง 190 กม. วงเงินลงทุนประมาณ 1 แสนล้านบาท โดยประเมินค่าเวนคืนเบื้องต้นประมาณ 1.3 หมื่นล้านบาท มีจำนวน 4 สถานี ได้แก่ สถานีระยอง สถานีแกลง สถานีจันทบุรี สถานีตราด โดยมีศูนย์ซ่อมบำรุง 1 แห่งที่จังหวัดระยอง ใช้ความเร็วสูงสุดในการเดินรถ 250 กม./ชั่วโมง ใช้เวลาเดินทางประมาณ 64 นาที คาดว่าจะมีปริมาณผู้โดยสาร 7,429 คน-เที่ยว/วัน ในปี 2571 ที่เปิดให้บริการ และเพิ่มเป็น 10,896 คน-เที่ยว/วัน ในปี 2581 และเพิ่มเป็น 15,251 คน-เที่ยว/วันในปี 2591 และเพิ่มเป็น 19,575 คน-เที่ยว/วัน ในปี 2601 กำหนดอัตราค่าโดยสาร 95 บาท (แรกเข้า) +2.1 บาท/กม.

โดยมีผลตอบแทนด้านเศรษฐกิจ (EIRR) 5.39% ส่วนรูปแบบการลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนนั้น เบื้องต้น รฟท.ได้เสนอรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน แบบ PPP Net Cost โดยเสนอเป็น 3 แนวทางเลือก คือ แบบที่ 1 เอกชนเป็นผู้ลงทุนทั้งหมด ทั้งงานโยธา งานระบบ ขบวนรถ และงาน Operation & Maintenance โดยภาครัฐเป็นผู้จัดหาที่ดิน

แบบที่ 2 เอกชนเป็น ผู้ดำเนินงานเฉพาะงานระบบและตัวรถ และ งาน Operation & Maintenance โดยภาครัฐเป็นผู้จัดหาที่ดิน และงานโยธา และแบบที่ 3 เอกชนเป็นผู้ดำเนินการเฉพาะงาน Operation & Maintenance โดยภาครัฐเป็นผู้จัดหาที่ดิน งานโยธา งานระบบ และขบวนรถ

สำหรับแผนการดำเนินโครงการ การศึกษาจะเสร็จเดือน ส.ค. 2563, เสนอคณะกรรมการอีอีซีและคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในปี 2564, ศึกษาและจัดทำเอกสาร PPP ในปี 2565, เปิดประมูลหาผู้ลงทุนปี 2567 เริ่มออกแบบและก่อสร้าง, ทดสอบระบบและเปิดให้บริการปี 2571 โดยเส้นทางมีจุดเริ่มต้นโครงการเชื่อมต่อจากโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ระยะที่ 1 ฝั่งตะวันออกของสนามบินอู่ตะเภาผ่านสถานีรถไฟบ้านฉาง เข้าสู่สถานีระยอง ตั้งอยู่บนทางหลวงหมายเลข 3574 (ระยอง-บ้านค่าย) ห่างจากสี่แยกเกาะลอยประมาณ 3 กิโลเมตร จากนั้นแนวเส้นทางจะมุ่งหน้าสู่อำเภอแกลง เข้าสู่สถานีแกลง ซึ่งตั้งอยู่บนทางหลวงหมายเลข 344 (ชลบุรี-แกลง) ห่างจากสามแยกแกลง ประมาณ 2 กิโลเมตร วิ่งตามแนวเส้นทางรถไฟทางคู่บางช่วง ผ่านอำเภอนายายอาม อำเภอท่าใหม่ เข้าสู่สถานีจันทบุรี ซึ่งตั้งอยู่บริเวณแยกเขาไร่ยา ผ่านอำเภอเมืองจันทบุรี อำเภอมะขาม อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี เข้าอำเภอเขาสมิง และมาสิ้นสุดโครงการบริเวณสถานีตราด ซึ่งตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค บนทางหลวงหมายเลข 3 (ถ.สุขุมวิท) ห่างจากสามแยกตราด ประมาณ 2 กิโลเมตร รวมระยะทางประมาณ 190 กิโลเมตร



นายสุชีพ สุขสว่าง วิศวกรใหญ่ฝ่ายโครงการพิเศษและก่อสร้าง การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)




กำลังโหลดความคิดเห็น