xs
xsm
sm
md
lg

ขบ.เร่ง TOR ศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าเชียงของ ดึงเอกชนร่วมทุน ปั้น “เกตเวย์” เชื่อมลาว-จีน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมการขนส่งฯ เร่งสรุป TOR ศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าเชียงของ จ.เชียงราย คาดเปิดประมูล PPP กลางปี 64 “จิรุตม์” เผยรัฐลงทุน 1.3 พันล้าน ก่อสร้างคืบกว่า 90% ดันเป็น “เกตเวย์” ครบวงจร ลดต้นทุนโลจิสติกส์เชื่อมลาวและจีน มูลค่าการค้ากว่า 2.8 หมื่นล้าน
นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดสัมมนารับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชน ต่อร่างประกาศเชิญชวน ร่างเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน และร่างสัญญาร่วมลงทุน โครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ จังหวัดเชียงราย ว่า ปัจจุบัน กรมฯ อยู่ระหว่างการก่อสร้างโครงการในระยะที่ 1 มีค่าก่อสร้างประมาณ 1,360 ล้านบาท มีความคืบหน้า 90.728% จะแล้วเสร็จภายในปี 2563 ซึ่งในช่วงแรกกรมฯ จะเข้าไปบริหารจัดการก่อน
ในทางคู่ขนาน ในการบริหารจัดการโครงการ กรมการขนส่งทางบกจะให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP Net Cost โดยภาครัฐเป็นผู้ลงทุนค่าเวนคืนที่ดิน และค่าก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมด ส่วนเอกชนเป็นผู้ลงทุนค่าเครื่องมืออุปกรณ์ยกขน และงานระบบบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์ และรับผิดชอบในส่วนของการบริหารจัดการและบำรุงรักษา (O&M) ตลอดระยะเวลาร่วมลงทุน 15 ปี

ปัจจุบันคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (คณะกรรมการ PPP) ได้ให้ความเห็นชอบรูปแบบการร่วมลงทุนในโครงการตามพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 เรียบร้อยแล้ว และอยู่ในขั้นตอนการเสนอขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก่อนดำเนินการคัดเลือกเอกชนตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562

กรมฯ จึงได้เปิดรังฟังความเห็นจากเอกชนเพื่อนำข้อเสนอแนะไปปรับปรุงในร่างเอกสารเชิญชวนร่วมลงทุนฯ โดยคาดว่าจะออกประกาศเชิญชวนเอกชนที่สนใจเข้าร่วมลงทุนได้ในช่วงกลางปี 2564 และลงนามในสัญญาร่วมลงทุนกับเอกชนได้ในช่วงต้นปี 2565
โดยเป็นหนึ่งในโครงการตามแผนการพัฒนาสถานีขนส่งสินค้า (Truck Terminal) ของกรมการขนส่งทางบก ซึ่งทำหน้าที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานรองรับการขนส่งสินค้าทางถนนระหว่างประเทศ บนเส้นทาง R3A เชื่อมต่อการขนส่งระหว่างไทย-สปป.ลาว-สาธารณรัฐประชาชนจีน มณฑลยูนาน ผ่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 4 (เชียงของ-ห้วยทราย) ซึ่งปัจจุบันมีการขนถ่ายสินค้าระหว่างประเทศมูลค่ากว่า 28,000 ล้านบาทต่อปี

การพัฒนาศูนย์เปลี่ยนถ่ายเชียงของฯ ยังจะรองรับการเปลี่ยนรูปแบบการขนส่ง (Modal Shift) ระหว่างทางถนนกับทางราง ผ่านแนวรถไฟทางคู่สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของในอนาคต ซึ่งขณะนี้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) อยู่ระหว่างจ้างที่ปรึกษาสำรวจกรรมสิทธิ์ที่ดินในการก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ซึ่งภายในพื้นที่ได้ออกแบบเผื่อสำหรับทางรถไฟที่จะเข้ามาเชื่อมต่อในปี 2568 ได้อย่างสะดวก หรือหลังจากศูนย์เปลี่ยนถ่ายเชียงของเปิดให้บริการไปแล้วประมาณ 3 ปี ซึ่งจะทำให้อำเภอเชียงของหนึ่งในศูนย์กลางทางด้านโลจิสติกส์ หรือ Logistic Hub ที่มีความสำคัญ ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และสนับสนุนนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษของรัฐบาล
สำหรับโครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ จ.เชียงราย ตั้งอยู่ที่ ต.เวียง อ.เชียงของ จ.เชียวงราย ติดด่านพรมแดนเชียงของ บริเวณสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 4 (เชียงของ-ห้วยทราย) มีเนื้อที่ 335 ไร่ 1 งาน 10.6 ตารางวา (เป็นที่ดิน ส.ป.ก. 207 ไร่ 2 งาน 29 ตารางวา) มีค่าเวนคืน 779 ล้านบาท ในระยะที่ 1 มีค่าก่อสร้างประมาณ 1,360 ล้านบาท ระยะที่ 2 ค่าก่อสร้างประมาณ 600 ล้านบาท จะเริ่มก่อสร้างหลังจากที่รถไฟทางคู่ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ เข้าเชื่อมต่อแล้วประมาณหลังปี 2568
อธิบดีกรมการขนส่งทางบกกล่าวว่า ตามแผนการพัฒนาสถานีขนส่งสินค้านั้น หลังจากเปิด PPP ศูนย์เปลี่ยนถ่ายเชียงของ จ.เชียงรายแล้ว จะมีการพัฒนาที่สถานีนครพนม จากนั้นประเมินว่าจะมีผลตอบแทนในการลงทุนสูง คือที่สุราษฎร์ธานี ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน ในระยะที่ 2 แม่สอด ตามลำดับ
ซึ่งตามแผนแม่บทการพัฒนาสถานีขนส่งสินค้ามีจำนวน 22 แห่ง โดยเป็นสถานีขนส่งสินค้าชานเมืองกรุงเทพฯ และปริมณฑล 3 แห่ง ได้แก่ พุทธมณฑล คลองหลวง ร่มเกล้า เปิดให้บริการแล้วตั้งแต่ปี 2543

สถานีขนส่งสินค้าจังหวัดชายแดน 11 แห่ง ประกอบด้วย ศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ จ.เชียงราย, ศูนย์การขนส่งสินค้าชายแดน จ.นครพนม แม่สาย ตาก หนองคาย มุกดาหาร สงขลา นราธิวาส กาญจนบุรี สระแก้ว ตราด

สถานีขนส่งสินค้าเมืองหลัก 8 แห่ง ได้แก่ เชียงใหม่ นครสวรรค์ พิษณุโลก ขอนแก่น อุบลราชธานี นครราชสีมา ปราจีนบุรี สุราษฎร์ธานี








กำลังโหลดความคิดเห็น