สถาบันอัญมณีฯ เผยผู้ประกอบการ 30 รายร่วมใช้ “บล็อกเชน” ติดตาม ตรวจสอบแหล่งที่มาที่ไป “พลอยสี” หลังมั่นใจช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ซื้อ ผู้ขาย และอุตสาหกรรม เล็งผลักดันต่อหลังเทรนด์การค้าในยุคดิจิทัลเติบโตแรง ย้ำข้อมูลทุกอย่างเป็นความลับ ตรวจสอบได้เฉพาะผู้ซื้อ ผู้ขายเท่านั้น และข้อมูลไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้
นางดวงกมล เจียมบุตร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือจีไอที เปิดเผยว่า ขณะนี้มีผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับประมาณ 30 รายที่ตอบรับเข้ามาใช้ระบบเทคโนโลยีที่ใช้ในการบันทึกและติดตามข้อมูลต่างๆ หรือบล็อกเชน สำหรับการติดตามแหล่งที่มาของพลอยสี เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของไทย ทั้งในส่วนของผู้ซื้อ ผู้ขาย ผู้ประกอบการ ที่จะสามารถตรวจสอบได้ว่าพลอยสีที่อยู่บนเครื่องประดับนั้นๆ มีแหล่งที่มาที่ไปอย่างไรแล้ว ซึ่งจะช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่อุตสาหกรรมได้เพิ่มขึ้น
“คาดว่าจะมีผู้ประกอบการที่สนใจเข้ามาใช้บล็อกเชนเพิ่มขึ้นอีก 1-2 เท่า หลังจากที่ได้เข้าใจถึงระบบบล็อกเชนมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสามารถใช้สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ซื้อถึงการตรวจสอบแหล่งที่มาที่ไปของพลอยสีได้ เพราะเรื่องของการตรวจสอบที่มาที่ไป หรือการตรวจสอบย้อนกลับ ถือเป็นเทรนด์ที่กำลังเติบโตสำหรับการค้าขายในยุคดิจิทัล”
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของผู้ประกอบการที่ลังเล และไม่อยากใช้ระบบบล็อกเชน เนื่องจากไม่เข้าใจถึงระบบเทคโนโลยีบล็อกเชนว่ามีข้อดีอย่างไร และบางส่วนมีความกังวลและความไม่สบายใจว่าข้อมูลการซื้อขาย หรือกระบวนการผลิตจะไม่ได้ถูกเก็บเป็นความลับ จึงไม่อยากเข้าไปใช้ระบบบล็อกเชน ซึ่งจีไอทีได้พยายามชี้แจงและสร้างความเข้าใจว่าระบบบล็อกเชนจะสามารถเข้าดูข้อมูลได้ ก็ต้องมีรหัสในการเข้าระบบ และผู้ที่เข้าได้ก็ต้องเป็นผู้ซื้อและผู้ขายเท่านั้น และข้อมูลที่อยู่ในบล็อกเชนก็ไม่สามารถที่จะแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงได้
ก่อนหน้านี้ จีไอทีมีแผนที่จะนำทีมงานไป จ.จันทบุรี เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจการใช้ระบบบล็อกเชนในอุตสาหกรรมพลอยสี และเชิญชวนให้ผู้ประกอบการให้เข้าร่วมใช้ระบบบล็อกเชนในการซื้อขายพลอยสีให้มากขึ้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ซื้อและผู้ขาย แต่แผนได้ชะลอออกไปก่อน เนื่องจากปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19
นางดวงกมลกล่าวว่า จีไอทียังได้ช่วยแก้ไขปัญหาการขาดสภาพคล่องให้แก่อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 โดยได้ประสานกับสถาบันการเงินเพื่อช่วยเหลือด้านสินเชื่อ และผลักดันให้สถาบันการเงินยอมรับการนำอัญมณีและเครื่องประดับมาใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจ เพื่อค้ำประกันกู้เงิน รวมทั้งผลักดันให้ใช้ช่องทางออนไลน์ในการเพิ่มรายได้หลังช่องทางปกติชะลอตัว
นอกจากนี้ มีกำหนดการที่จะจัดงานเทศกาลนานาชาติ พลอยสีและเครื่องประดับ ที่ จ.จันทบุรี ระหว่างวันที่ 23-27 ธ.ค. 2563 เพื่อเป็นเวทีสำหรับผู้ประกอบการค้าพลอย อัญมณีและเครื่องประดับใน จ.จันทบุรี และจากทั่วโลกได้มีโอกาสพบปะเจรจาธุรกิจ และเปิดโอกาสให้มีการนำเสนอผลิตภัณฑ์อัญมณีและเครื่องประดับที่มีคุณภาพจากผู้ผลิตสู่ผู้บริโภคโดยตรง