กรมการค้าภายในเตรียมใช้งบกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร 340 ล้านบาทดูแลราคาลำไยช่วงผลผลิตออกสู่ตลาด เน้นสนับสนุนค่าบริหารจัดการในการกระจายผลผลิต ผลักดันส่งออก ชดเชยดอกเบี้ย และจัดกิจกรรมรณรงค์การบริโภคทั่วประเทศ
นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 18-19 ก.ค. 2563 ที่ผ่านมาได้ลงพื้นที่จังหวัดลำพูนและเชียงใหม่เพื่อติดตามสถานการณ์ลำไย และหารือมาตรการรับมือผลผลิตลำไยที่กำลังออกสู่ตลาด โดยได้แจ้งต่อเกษตรกรว่ามีการเตรียมมาตรการช่วยเหลือในด้านการดูแลราคาไว้ล่วงหน้าแล้ว โดยจะใช้เงินจากกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร เพื่อสนับสนุนเกษตรกร สหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการในการรับซื้อ และเร่งกระจายผลผลิตออกจากแหล่งผลิต ซึ่งล่าสุดได้อนุมัติงบประมาณดำเนินการแล้ว 340 ล้านบาท
ทั้งนี้ งบประมาณดังกล่าวแบ่งเป็นค่าบริหารจัดการในการกระจายผลผลิต กิโลกรัม (กก.) ละ 3 บาท โดยช่วยค่ารวบรวม เก็บเกี่ยว จัดส่ง วงเงิน 194.45 ล้านบาท ช่วยค่าบริหารจัดการในการรับซื้อเพื่อส่งออก เช่น ค่าบรรจุภัณฑ์ ขนส่ง คัดแยกเกรด กก.ละ 5 บาท โดยให้ผู้ส่งออกที่ส่งออกไปแล้วนำหลักฐานมายืนยัน วงเงิน 50 ล้านบาท ช่วยเสริมสภาพคล่อง โดยลดภาระดอกเบี้ยเงินกู้ยืมธนาคารในอัตรา 3% ต่อปี เป็นเวลา 6-10 เดือน วงเงิน 45.55 ล้านบาท และส่งเสริมตลาดโดยจัดงานรณรงค์บริโภคผลไม้ทั่วประเทศ วงเงิน 50 ล้านบาท
นอกจากนี้ จะผลักดันการทำสัญญาข้อตกลงซื้อขายลำไยระหว่างเกษตรกรกับห้างค้าปลีกค้าส่ง จากเดิม 4,808 ตัน เพิ่มเป็น 10,000 ตัน ประสานตลาดกลางสินค้าเกษตรประมาณ 20 ตลาดทั่วประเทศ เพื่อให้เข้าไปรับซื้อลำไยจากเกษตรกร และช่วยกระจายผลผลิตในช่วงที่ผลผลิตจะออกมากในเดือน ส.ค. 2563 ผลักดันการรส่งออกลำไยเกรด B และ C ประมาณวันละ 100 ตันไปตลาดกัมพูชาและเวียดนาม และช่วยดอกเบี้ย 3% ให้แก่ชาวสวนลำไย ที่ซื้อลำไยลูกร่วงและรูดร่วงไปอบทั้งเปลือกและอบเป็นเนื้อสีทอง
สำหรับผลผลิตลำไยปี 2563 คาดว่าจะมีปริมาณ 9 แสนตัน เพิ่มขึ้น 5% โดยขณะนี้ผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาดแล้ว 15% ผลผลิตมีปัญหาในเรื่องคุณภาพที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ทำให้ลำไยขนาดใหญ่ เกรด AA และ A ซึ่งเป็นขนาดที่ส่งออกไปต่างประเทศ มีสัดส่วนเพียง 10% และ 35% ที่เหลือเป็นขนาด B และ C รวมกันกว่า 50% โดยราคาล่าสุด เกรด AA กก.ละ 27 บาท เกรด A กก.ละ 27 บาท เกรด B กก.ละ 16 บาท และเกรด C กก.ละ 10 บาท
ทางด้านสถานการณ์ตลาดบริโภคสดทั้งในประเทศและส่งออกพบว่าชะลอตัว โดยคู่ค้าสำคัญ เช่น จีน อินโดนีเซีย ไม่สามารถเดินทางเข้ามาดูผลผลิตจากการติดมาตรการควบคุมโควิด-19 ทำให้ต้องพิจารณาการสั่งซื้อจากภาพถ่ายที่ส่งไปให้ จึงทำให้การสั่งซื้อชะลอตัว และยังมีปัญหาเรื่องแรงงานที่เดินทางกลับประเทศช่วงโควิด-19 ยังไม่สามารถเข้ามาทำงานในสวนลำไยได้ แต่กำลังจะมีทางออกและมีมาตรการผ่อนผันออกมา