คมนาคมทะลวงคอขวดสู่ภาคใต้ อัดเงินกองทุนฯ 2 หมื่นล้านสร้างมอเตอร์เวย์ “เอกชัย-บ้านแพ้ว” ส่วน O&M เปิด PPP ปี 64 ออกแบบตัดถนนใหม่ 14 กม.เชื่อมแยกวังมะนาว “ศักดิ์สยาม” สั่งเร่งเคลียร์ปมเวนคืน “นครปฐม-ชะอำ” เร่งชง ครม.
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ได้ประชุมร่วมกับกรมทางหลวง (ทล.) เพื่อติดตามความคืบหน้าโครงการที่เป็นโครงข่ายลงสู่ภาคใต้ ได้แก่ ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (M82) ช่วงต่อขยายเอกชัย-บ้านแพ้ว ขณะนี้ออกแบบรายละเอียดและรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เสร็จแล้ว โดย ทล.จะดำเนินการก่อสร้างงานโยธาเอง วงเงิน 20,000 ล้านบาท โดยใช้เงินจากกองทุนมอเตอร์เวย์ ซึ่ง ทล.จะเสนอเรื่องมายังกระทรวงคมนาคมเพื่อพิจารณาภายในเดือน ส.ค.นี้
ส่วนมอเตอร์เวย์ (M8) สายนครปฐม-ชะอำ ระยะทาง 109 กม. วงเงินลงทุน 79,006 ล้านบาทนั้น ยังมีปัญหาอุปสรรคอยู่ 7 เรื่องที่ ทล.จะต้องเร่งแก้ไขให้เรียบร้อย เช่น การเวนคืนบริเวณ จ.เพชรบุรีที่ประชาชนยังคัดค้าน
นอกจากนี้ ทล.ยังมีแผนก่อสร้างทางหลวงแนวใหม่เชื่อมต่อสามแยกวังมะนาวกับทางหลวงหมายเลข 3510 ที่บริเวณ อ.หนองหญ้าปล้อง ปรับจากสามแยกวังมะนาว และสี่แยกวังมะนาว ซึ่งจะมีการก่อสร้างถนนใหม่ขนาด 4 ช่องจราจร ระยะทาง 14 กม. และปรับปรุงขยายถนนเดิมทางหลวงหมายเลข 3206 จาก 2 ช่อง เป็น 4 ช่องจราจร
“จะเป็นการเพิ่มทางเลือกในการเดินทางลงสู่ภาคใต้ และลดความหนาแน่นของถนนพระราม 2 ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้ให้ความสำคัญต่อโครงข่ายถนนทั่วประเทศ โดยหลักการทำงานของผมทุกโครงการที่จะเสนอมานั้นจะต้องมีความพร้อมแล้ว หากยังติดขัดขั้นตอนไหนหรือโครงการยังไม่พร้อมอย่าเพิ่งเสนอให้ไปแก้ปัญหาให้เรียบร้อยก่อน” นายศักดิ์สยามกล่าว
@เทเงินกองทุนฯ 2 หมื่นล้านสร้างมอเตอร์เวย์ “เอกชัย-บ้านแพ้ว”
นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) กล่าวว่า ทล.ได้สรุปแล้วว่าจะก่อสร้างงานโยธา มอเตอร์เวย์ “เอกชัย-บ้านแพ้ว” ระยะทาง 15 กม.เอง โดยมีค่างานประมาณ 20,000 ล้านบาท ใช้เงินจากกองทุนมอเตอร์เวย์ ดำเนินการ 3 ปี แบ่งเป็น ปี 64 จำนวน 4,000 ล้านบาท ปี 65 จำนวน 8,000 ล้านบาท ปี 66 จำนวน 8,000 ล้านบาท โดยปัจจุบันกองทุนมอเตอร์เวย์มีสถานะการเงินที่ 14,000 ล้านบาท ถึงปี 66-67 กองทุนจะมีเงินประมาณ 1,482 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในขีดความสามารถที่จะลงทุนได้ ไม่มีปัญหา โดยจะเสนอกระทรวงคมนาคม ส.ค.นี้ และคาดว่าจะเสนอ ครม.และเปิดประมูลในเดือน ต.ค. 63 เริ่มก่อสร้างในปี 64 แล้วเสร็จในปี 67
ส่วนงานระบบและบำรุงรักษา (O&M) ตั้งแต่ช่วงบางขุนเทียน-เอกชัย-บ้านแพ้ว ระยะทาง 25 กม. วงเงินประมาณ 1,850 ล้านบาท จะลงทุนร่วมเอกชน (PPP Gross Cost) ตามแผนจะสรุปผลศึกษา PPP เสนอคมนาคมใน ต.ค. 63 เพื่อเสนอคณะกรรมการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (บอร์ด PPP) และ ครม.ในช่วง ก.พ. 64 และเปิดประมูลได้ใน ส.ค. 64
สำหรับมอเตอร์เวย์นครปฐม-ชะอำ ได้ผ่านความเห็นชอบจากบอร์ด PPP แล้วเมื่อ 21 ก.ย. 2561 อยู่ระหว่างทบทวนรายงาน EIA และสำรวจที่ดินและทรัพย์สินที่จะเวนคืน และเตรียมเสนอ ครม. ทั้งนี้ รมว.คมนาคมได้ให้ ทล.แก้ปัญหาอุปสรรค 7 ข้อให้เรียบร้อยที่จะเสนอขออนุมัติ เนื่องจากไม่ต้องการให้ซ้ำรอยมอเตอร์เวย์บางใหญ่-กาญจนบุรีที่ติดปัญหาเวนคืนทำให้โครงการล่าช้า โดยโครงการมีวงเงินรวม 79,006 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่างานโยธา 55,805 ล้านบาท ค่างานระบบ 4,014 ล้านบาท ค่าควบคุมงาน 897 ล้านบาท ค่าเวนคืน 18.290 ล้านบาท
ปัญหาอุปสรรคแบ่งเป็น 2 ช่วง คือ 1. ช่วงนครปฐม-ปากท่อ มีประเด็นการจัดการน้ำ ปัญหาการแบ่งแยกพื้นที่ ช่วงชุมชนบ้านสะพานดำ และปัญหาด้าน EIA ช่วงผ่านพื้นที่เกษตรกรรม 2. ช่วงปากท่อ-ชะอำ ประเด็นขอย้ายแนวเส้นทางเพื่อลดผลกระทบชุมชนสองข้างทาง ปัญหาน้ำท่วมตามแนวเส้นทาง ปัญหาการแบ่งแยกพื้นที่ ปัญหา EIA และการจ่ายค่าเวนคืน
“บอร์ด PPP เห็นชอบมากกว่า 2 ปีแล้ว ดังนั้นในระหว่างที่เคลียร์ปัญหา 7 เรื่องนี้ ในส่วนของข้อมูลต่างๆ จะต้องมีการทบทวนให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไปด้วย ขณะที่แผนงานจะเริ่มโครงการในปี 2564 และเปิดให้บริการในปี 2569”
ส่วนถนนสายใหม่เชื่อมต่อสามแยกวังมะนาว ระยะทาง 14.8 กม. วงเงินประมาณ 2,000 ล้านบาทนั้น ทล.จะศึกษาสำรวจและออกแบบรายละเอียดในปี 64 และจะตั้งงบประมาณก่อสร้างในปี 66 ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี