“พาณิชย์”แจ้งความคืบหน้าแก้ไขกฎหมายลิขสิทธิ์ เตรียมเสนอ ครม. พิจารณา ก่อนเข้ารัฐสภา เพื่อออกเป็นกฎหมาย เผยได้ปรับปรุงการคุ้มครองการละเมิดบนอินเทอร์เน็ตให้ดีขึ้น เปิดทางเจ้าของสิทธิ์แจ้ง ISP ถอดงานละเมิดจากเว็บได้ทันที จากเดิมต้องร้องขอต่อศาลสั่ง พร้อมเพิ่มการเอาผิดผู้ผลิต ผู้ขายอุปกรณ์ที่ใช้ในการแฮก และเปิดทางไทยเข้าร่วมภาคี WCT
น.ส.จิตติมา ศรีถาพร รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า ขณะนี้ร่างแก้ไขพ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ ฉบับปรับปรุงใหม่ ได้ผ่านการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และกระทรวงพาณิชย์ได้ยืนยันร่างกฎหมายแล้ว และได้นำเสนอให้สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (ครม.) นำบรรจุเข้าสู่วาระการพิจารณาของ ครม. คาดว่าน่าจะเข้าสู่การพิจารณาได้ในเร็วๆ นี้ และจากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาของรัฐสภา เพื่อออกเป็นกฎหมายและบังคับใช้ต่อไป
สำหรับการแก้ไขกฎหมาย ได้เพิ่มเติมการปกป้อง คุ้มครองการละเมิดบนอินเทอร์เน็ตให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยเพิ่มความรับผิดชอบผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต (ISP) ในกระบวนการระงับการละเมิดลิขสิทธิ์บนอินเตอร์เน็ตแบบแจ้งเตือนและเอาออก (Notice and Takedown) ซึ่งหากเจ้าของสิทธิ์พบว่ามีการละเมิดเกิดขึ้น เช่น การละเมิดเพลง ภาพยนตร์ ละคร บนเว็บไซต์ต่างๆ ก็สามารถแจ้งเตือนไปยัง ISP เพื่อให้นำงานที่ละเมิดลิขสิทธิ์ออกได้ทันที
“กฎหมายเดิม หากพบว่ามีการละเมิดลิขสิทธิ์ ต้องไปร้องขอต่อศาลเพื่อสั่งให้ระงับการเผยแพร่ และอาจใช้เวลานาน หรือบางครั้งศาลสั่งแล้ว ก็มีปัญหา หากผู้ที่ละเมิดอยู่ในต่างประเทศ หรือมีเซิร์ฟเวอร์อยู่ในต่างประเทศ ก็ทำอะไรไม่ได้ ต้องไปร้องขอให้มีคำสั่งปิดกั้นเว็บไซต์อีก แต่กฎหมายใหม่ ให้เจ้าของสิทธิ์ สามารถส่งหนังสือแจ้งไปยัง ISP ให้ถอดงานละเมิดลิขสิทธิ์ออกได้เลย”
นอกจากนี้ ยังได้มีการปรับปรุงบทบัญญัติมาตรการที่เกี่ยวกับละเมิดมาตรการทางเทคโนโลยีให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยหากบุคคลใดผลิต ขาย มีไว้เพื่อขาย เสนอขาย ให้เช่า เสนอให้เช่า จัดหา นำเข้า หรือการค้าโดยวิธีอื่นใด ซึ่งอุปกรณ์หรือผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการแฮ็กบนอินเตอร์เน็ต เช่น กล่องปลดล็อครหัสเข้าอินเตอร์เน็ต ให้ถือว่าเป็นการละเมิดมาตรการทางเทคโนโลยี จากกฎหมายปัจจุบัน ยังไม่ครอบคลุมถึงผู้ผลิต และผู้ขายอุปกรณ์เหล่านี้ แต่กฎหมายใหม่ จะเอาผิดกับผู้ผลิต ผู้จำหน่ายอุปกรณ์เหล่านี้ด้วย
ขณะเดียวกัน ได้แก้ไขกฎหมายเพื่อการเข้าร่วมเป็นสมาชิกสนธิสัญญาว่าด้วยลิขสิทธิ์องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WCT) เพราะปัจจุบันไทยกำลังอยู่ระหว่างการขอเข้าเป็นสมาชิก แต่กฎหมายลิขสิทธิ์ของไทยยังไม่สอดคล้องกับสนธิสัญญา จึงต้องแก้ไขให้สอดคล้อง เช่น การขยายระยะเวลาการคุ้มครองภาพถ่าย ที่กฎหมายเดิม คุ้มครอง 50 ปีหลังจากสร้างสรรค์ ขยายเป็นคุ้มครองตลอดอายุของผู้สร้างสรรค์ และเพิ่มอีก 50 ปีหลังจากเสียชีวิตตาม WCT ซึ่งจะทำให้การคุ้มครองต่อเนื่อง และยาวนานมากขึ้น