กรมทรัพย์สินทางปัญญาเดินหน้าแก้ไขพ.ร.บ.สิทธิบัตร เน้นแก้ปัญหา “โจรสลัดชีวภาพ” ฉกพันธุกรรมหรือภูมิปัญญาไทยไปจดสิทธิบัตร ต้องขออนุญาตและต้องแบ่งปันผลประโยชน์ เปิดทางใช้ CL ยา หากช่วยประเทศที่ขาดแคลน ปรับปรุงการตรวจสอบให้เร็วขึ้น และเข้าเป็นภาคีกรุงเฮก อำนวยความสะดวกการยื่นจดสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ในต่างประเทศ
น.ส.จิตติมา ศรีถาพร รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมฯ กำลังอยู่ระหว่างการปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.สิทธิบัตร (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... โดยได้นำร่างแก้ไขเดิมเรื่องสิทธิบัตรการประดิษฐ์ กับร่างกฎหมายใหม่เรื่องสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ มารวมไว้เป็นฉบับเดียวกัน เพื่อให้สอดคล้องกับบทบัญญัติในพ.ร.บ.หลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ.2562 ที่กำหนดให้หน่วยงานที่ยกร่างกฎหมายจะต้องดำเนินการให้เกิดประโยชน์ ไม่เป็นภาระต่อประชาชน และต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน และมีผลสัมฤทธิ์ชัดเจน ทำให้ต้องมาแก้ไขให้เหลือเพียงฉบับเดียว จากเดิมที่จะเสนอร่างแก้ไขกฎหมายดังกล่าวออกเป็น 2 ฉบับ โดยคาดว่าจะยกร่างเสร็จภายในเดือนก.ค.2563 เปิดประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นภายในเดือนส.ค.2563 และตั้งเป้าจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาภายในปีนี้
โดยในการแก้ไขกฎหมาย ได้เพิ่มสาระสำคัญในเรื่องการป้องกันปัญหาโจรสลัดชีวภาพ หรือการยักยอกใช้ทรัพยากรพันธุกรรมหรือการนำองค์ความรู้ของชุมชนท้องถิ่นหรือของประเทศไปแสดงหาประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ โดยไม่ดำเนินการขออนุญาตหรือตกลงแบ่งปันผลประโยชน์ แต่กฎหมายใหม่ ได้กำหนดให้การยื่นจดสิทธิบัตรที่มีการใช้ทรัพยากรพันธุกรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นในการประดิษฐ์ เช่น นำเปล้าน้อยและกวาวเครือมาทำยา ต้องระบุแหล่งที่มา และต้องยื่นเอกสารการขออนุญาตและข้อตกลงแบ่งปันผลประโยชน์ ถ้าไม่ยื่นก็ไม่สามารถขอจดสิทธิบัตรได้ หรือถ้าปิดบังข้อเท็จจริง ก็จะมีความผิดตามกฎหมาย
ส่วนเรื่องการบังคับใช้สิทธิตามสิทธิบัตร (CL) จะแก้ไขให้เกิดความชัดเจน และมีความครบถ้วนตามความตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้า (TRIPs) เพื่อให้ไทยสามารถบังคับใช้สิทธิตามสิทธิบัตรเพื่อส่งออกเภสัชภัณฑ์ไปยังประเทศที่มีความขาดแคลน แต่ไม่มีศักยภาพในการผลิตได้ และกำหนดให้ไม่ต้องจ่ายค่าตอบแทนซ้ำซ้อนในกรณีที่นำเข้าเภสัชภัณฑ์ที่มีการจ่ายค่าตอบแทนแล้วในประเทศผู้ส่งออก
นอกจากนี้ ยังได้ปรับปรุงขั้นตอนการตรวจสอบคำขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์และอนุสิทธิบัตรให้เร็วขึ้น โดยกำหนดให้มีการประกาศโฆษณาภายใน 18 เดือน นับจากวันยื่นคำขอครั้งแรก จากเดิมไม่กำหนด และกำหนดให้ยื่นคำร้องขอให้ตรวจสอบการประดิษฐ์ภายใน 3 ปี นับแต่วันยื่นคำขอรับสิทธิบัตร จากเดิมนับจากประกาศโฆษณาภายใน 5 ปี ซึ่งจะทำให้การจดสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตรทำได้เร็วขึ้น
ส่วนการปรับปรุงเรื่องการคุ้มครองสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ จะปรับปรุงกระบวนการตรวจสอบจากประกาศโฆษณาก่อนการตรวจสอบสาระสำคัญ เป็นตรวจสอบสาระสำคัญก่อนการประกาศโฆษณา เพื่อให้กระบวนการพิจารณามีความต่อเนื่องและรวดเร็ว และยังได้ขยายอายุการให้ความคุ้มครองการออกแบบผลิตภัณฑ์จาก 10 ปี เป็นเริ่มต้น 5 ปี และต่ออายุได้ 2 ครั้งๆ ละ 5 ปี รวม 15 ปี รวมทั้งได้เพิ่มบทบัญญัติเพื่อรองรับการเข้าเป็นภาคีความตกลงกรุงเฮกว่าด้วยการจดทะเบียนการออกแบบผลิตภัณฑ์ระหว่างประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกในการจดทะเบียนการออกแบบผลิตภัณฑ์ ที่สามารถยื่นคำขอเพียงครั้งเดียว แต่สามารถขอรับความคุ้มครองได้หลายประเทศ
“การปรับปรุงกฎหมายในเรื่องสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ จะเกิดประโยชน์ในการคุ้มครองการประดิษฐ์คิดค้นของคนไทย เพราะปัจจุบันคนไทยมีขีดความสามารถในการออกแบบ ทั้งเฟอร์นิเจอร์ รถยนต์ ของใช้ประจำวัน เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น หากปรับปรุงกฎหมายให้จดได้ง่ายขึ้น เร็วขึ้นก็จะเกิดประโยชน์กับคนไทย ส่วนการเข้าเป็นภาคีกรุงเฮก ก็จะช่วยให้การจดสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ในต่างประเทศ เพื่อขอรับความคุ้มครองทำได้ง่ายขึ้น เพราะปัจจุบันมีถึง 65 ประเทศ เช่น สหรัฐฯ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น อาเซียน (สิงคโปร์ บรูไน กัมพูชา เวียดนาม) ที่สามารถยื่นที่ไทยแล้วขอรับความคุ้มครองได้”น.ส.จิตติมากล่าว