บอร์ด ร.ฟ.ท.เห็นชอบผลศึกษา PPP สายสีแดง เตรียมเสนอคมนาคม และ คนร.ทบทวนมติเดิมให้ ร.ฟ.ท.ทำเองโดยอัปเกรด บ.แอร์พอร์ตลิงก์ เผยข้อดี PPP ลดความเสี่ยง ร.ฟ.ท.ไม่มีหนี้เพิ่มอย่างน้อย 9 หมื่นล้าน
นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท. ที่มีนายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เป็นประธานวันนี้ (16 ก.ค.) ได้เห็นชอบผลการศึกษาการเปรียบเทียบการบริหารจัดการการเดินรถโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ระหว่าง การรถไฟฯ ดำเนินการ กับการให้เอกชนร่วมลงทุน (PPP) ซึ่งเบื้องต้นพบว่ารูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุน (PPP) มีข้อดีมากกว่าทั้งแง่การลงทุน ลดความเสี่ยงภาครัฐ ลดภาระหนี้สิน ร.ฟ.ท. การบริหารจัดการ และไม่มีปัญหาด้านบุคลากร ซึ่งจะสรุปผลศึกษาเสนอกระทรวงคมนาคมพิจารณาก่อน จากนั้นจะเสนอคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ขอทบทวนมติเดิมที่ให้ ร.ฟ.ท.จัดตั้งบริษัทลูก โดยการอัปเกรดบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัด ตามขั้นตอน หากเห็นชอบจึงจะเสนอคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (คณะกรรมการ PPP) ต่อไป
ทั้งนี้ คณะทำงานได้สรุปผลศึกษาแนวทาง PPP สายสีแดงพบว่ามีความเหมาะสม เนื่องจาก ร.ฟ.ท.ไม่ต้องลงทุนเพิ่มอีกไม่น้อยกว่า 9 หมื่นล้านบาท ในการก่อสร้างรถไฟสายสีแดงส่วนต่อขยาย ทำให้ไม่ต้องกู้เงิน และไม่มีภาระหนี้เพิ่ม ส่วนประชาชนได้ประโยชน์จากบริการที่มีการบริหารจัดการที่ดีกว่า ขณะที่จะมีแนวทางดูแลพนักงานของบริษัทรถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. ที่ถือเป็นบุคลากรที่มีประสบการณ์ ซึ่งอาจจะกำหนดเป็นเงื่อนไขในการประมูล PPP เป็นต้น
สำหรับโมเดล PPP รถไฟสายสีแดงนั้นจะเป็น Net Cost เบื้องต้นเอกชนจะต้องลงทุนก่อสร้างสายสีแดงส่วนต่อขยายทั้งหมด รับบริหารการเดินรถ ซึ่งระยะเวลาไม่น้อยกว่า 30 ปี รวมถึงบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ของสถานีสายสีแดงตลอดสายและสถานีกลางบางซื่อ รวม 29 สถานี ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการสายสีแดง เนื่องจากสถานีกลางบางซื่อมีรถไฟ 3 ระบบ คือนอกจากสายสีแดงแล้วยังมีรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนรวมอยู่ด้วย ซึ่งรูปแบบ PPP สายสีแดง นอกจากรถไฟไม่ต้องลงทุนเพิ่มแล้ว ยังไม่มีความเสี่ยงใดๆ และจะได้รับส่วนแบ่งรายได้ในปีแรกๆ อีกด้วย
สำหรับการเปิดเดินรถนั้น นายนิรุฒกล่าวว่า จะเปิดเดินรถทันทีเมื่อมีความพร้อม คือโครงสร้างเสร็จและทดสอบระบบพร้อม ขณะที่บุคลากรนั้น รถไฟจะยังคงเตรียมภายใต้หลักการเดิมไปก่อน ดังนั้นหากระบบพร้อมจะสามารถเปิดเดินรถได้ และเมื่อ PPP เสร็จได้ตัวเอกชนสามารถเข้ามาสวมได้เลย โดยจะกำหนดรายละเอียดไว้ในเงื่อนไขประมูล แต่อย่างไรก็ตาม ต้องดูว่าเมื่อเปิด PPP แล้วจะมีเอกชนเข้ามาด้วยหรือไม่ ซึ่งหากไม่มีเอกชนสนใจ ร.ฟ.ท.พร้อมเดินรถเอง
ขณะนี้การก่อสร้างสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิตนั้น อยู่ระหว่างการพิจารณาขยายสัญญาที่ 3 (งานระบบอาณัติสัญญาณ) ซึ่งเอกชนขอมา 512 วัน โดยเห็นชอบไปแล้ว 87 วัน
สำหรับการลงทุนของเอกชนเบื้องต้น มี 5 ส่วน ประกอบด้วย 1. ก่อสร้างรถไฟสายสีแดงเข้มส่วนต่อขยาย ช่วงรังสิต-มธ. ศูนย์รังสิต ระยะทาง 8.84 กม. กรอบวงเงิน 6,570.40 ล้านบาท 2. สายสีแดงอ่อนส่วนต่อขยาย ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา กรอบวงเงินลงทุน 10,202.18 ล้านบาท มีระยะทาง 14.8 กม.3. สายสีแดงอ่อนส่วนต่อขยาย ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 4.3 กม. กรอบวงเงิน 6,645.03 ล้านบาท 4. รถไฟสายสีแดงอ่อน (Missing Link) ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และสีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง ระยะทาง 25.9 กม. วงเงิน 44,157.76 ล้านบาท และ 5. งาน VO วงเงิน 10,345 ล้านบาท