นายสุชีพ สุขสว่าง วิศวกรใหญ่ฝ่ายโครงการพิเศษและก่อสร้าง การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ร.ฟ.ท.อยู่ระหว่างจัดทำทีโออาร์เพื่อออกประกวดราคาโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ส่วนต่อขยาย 3 เส้นทาง ได้แก่ สายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต-มธ. ศูนย์รังสิต ระยะทาง 8.84 กม. กรอบวงเงิน 6,570.40 ล้านบาท, สายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา กรอบวงเงินลงทุน 10,202.18 ล้านบาท มีระยะทาง 14.8 กม., สายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 4.3 กม. กรอบวงเงิน 6,645.03 ล้านบาท
โดยจะสรุปร่างทีโออาร์ และราคากลางได้ภายในเดือน ธ.ค. จากนั้นจะประกาศลงเว็บไซต์เพื่อเข้าสู่ขั้นตอนประกวดราคา (E-Bidding) ซึ่งจะมีการรับฟังความเห็นราวต้นปี 2563 ใช้เวลาคัดเลือกแล้วเสร็จได้ผู้รับจ้างช่วงกลางปี 2563
สำหรับการประมูลทั้ง 3 โครงการนั้นจะแบ่งเป็น 3 สัญญา โดยจะรวมการก่อสร้างงานโยธา และงานวางราง ระบบรถไฟฟ้าเครื่องกล และจัดหาขบวนรถไฟของแต่ละโครงการไว้ในสัญญาเดียวกัน จากทั่วไปที่โครงการรถไฟฟ้าจะแยกประมูลสัญญาการก่อสร้างงานโยธา และสัญญางานระบบรถไฟฟ้า ทั้งนี้ เนื่องจากรถไฟสายสีแดงส่วนต่อขยาย 3 โครงการนี้มีระยะทางไม่ยาวมาก และเป็นส่วนที่ต่อจากรถไฟสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน ประกอบกับมีการจัดซื้อรถเพิ่มเพียง 4 ขบวน (ขบวนละ 4 ตู้) สำหรับใช้ในเส้นทางตลิ่งชัน-ศิริราช ขณะที่การให้บริการจะเป็นการเดินรถต่อเนื่องเข้าสู่สถานีกลางบางซื่อ จึงไม่มีเหตุในการแยกสัญญางานก่อสร้างและงานระบบ
ส่วนกรณีที่มองว่าจะเป็นการล็อกหรือไม่นั้น นายสุชีพกล่าวว่า ตัวระบบสายสีแดง ระบบสื่อสาร การควบคุมการเดินรถ ใช้ระบบอาณัติสัญญาณมาตรฐานสากล European Train Control System (ETCS) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่เปิดกว้าง โดยจะกำหนดเงื่อนไขคุณสมบัติไว้ในทีโออาร์ ซึ่งมีผู้ยื่นข้อเสนอได้หลายราย
สำหรับสายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต-มธ.ศูนย์รังสิต และสายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ครม.มีมติอนุมัติเมื่อวันที่ 26 ก.พ. 2562 ส่วนสายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ครม.อนุมัติเมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2562 โดยจะใช้ระยะเวลาก่อสร้างรวม 5 ปี มีเป้าหมายเปิดให้บริการในปี 2565