xs
xsm
sm
md
lg

กรมการค้าภายในอย่าเดินหมากผิด ยามทั่วโลกเจอวิกฤต ASF เป็นโอกาสของไทย อย่ากดราคาหมูปล่อยให้เกษตรกรไทยได้ลืมตาอ้าปาก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 รวมไปถึงการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร (African Swine Fever หรือ ASF) ที่กระจายไปทั่วเอเชีย ส่งผลให้ราคาหมูในหลายประเทศเพิ่มขึ้น จากการที่หมูเริ่มขาดแคลน ถือเป็นโอกาสทองของประเทศไทยที่จะได้ส่งออกหมูไปต่างประเทศเพิ่มเงินตราเข้าประเทศ และยังเป็นโอกาสในการสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรของไทยให้หลุดพ้นจากวังวน “อาชีพเลี้ยงหมูเสีย 3 ปี ดี 1 ปี” แต่กลับปรากฏเสียงคัดค้านสกัดการส่งออกหมูไทยไปตลาดโลก

แหล่งข่าวระดับสูงจากกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เป็นที่ทราบกันดีว่าไทยเป็นประเทศที่มีการฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ดีที่สุดในอันดับที่ 1 ของเอเชีย และอันดับที่ 2 ของโลก และไทยยังสามารถคงสถานะการเป็นประเทศที่ปลอดจาก ASF ส่งผลให้หมูไทยเป็นที่ต้องการของทุกประเทศ จึงถือเป็นโอกาสครั้งสำคัญของอุตสาหกรรมหมูและภาคปศุสัตว์ไทย ซึ่งกระทรวงพาณิชย์พร้อมประสานความร่วมมืออย่างเต็มที่กับภาคเอกชนและเกษตรกรเพื่อร่วมมือกันผลักดันอุตสาหกรรมหมูไทยสู่ตลาดโลก และที่สำคัญจะเป็นโอกาสครั้งสำคัญที่จะช่วยพลิกชีวิตเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูของไทย

ทั้งนี้ ยังสอดคล้องกับความเห็นของสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ โดย น.สพ.วิวัฒน์ พงษ์วิวัฒนชัย อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เปิดเผยว่าปัจจุบันราคาหมูในหลายประเทศเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นที่จีน หรือ เวียดนาม ซึ่งเป็นผลมาจากความต้องการเพื่อการบริโภคและนำเข้ายังมีต่อเนื่อง การที่ราคาหมูส่งออกเพิ่มขึ้นถือเป็นโอกาสและสร้างรายได้ให้กับผู้เลี้ยงและผู้ส่งออก ต้องให้โอกาสผู้เลี้ยงได้รับประโยชน์จากการที่หมูมีราคาสูงขึ้น

ขณะที่นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หากรัฐบาลจะใช้มาตรการจำกัดการส่งออกหมู เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาในประเทศ ก็ควรต้องพิจารณาด้วยว่า ส่วนที่เหลือจากการบริโภคภายในประเทศควรจะต้องเพิ่มหรือขยายการส่งออกได้หรือไม่ เพราะในภาพของอุตสาหกรรมต้องมองอีกแง่ว่า เราส่งออกหมูได้มากขึ้นนั้นเพราะสินค้าเกษตรเรามีมาตรฐานมากขึ้นเช่นกัน

แหล่งข่าวจากวงการเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร เปิดเผยว่า นับจากปัญหาหมูล้นตลาดเมื่อปี 2560 ทำให้ เกษตรกรและคนในวงการหมูต้องพบปัญหาและอุปสรรคมากมาย เข้าสู่วังวนที่ว่า “อาชีพเลี้ยงหมูเสีย 3 ปี ดี 1 ปี” ซึ่งหมายถึง ราคาหมูตกต่ำสามปี ราคาดีอยู่แค่ปีเดียว เกษตรกรผู้เลี้ยงหมู 200,000 ราย ต้องประสบปัญหาเดียวกันคือ ปัญหาราคาขึ้นลงตาม “วัฏจักรสุกร” หรือ “วงจรราคาสุกร” (Hog Cycle) ที่เป็นภาพสะท้อนว่าการเลี้ยงหมูเป็นอาชีพที่คนเลี้ยงมีรายได้ไม่แน่นอน เนื่องจากใช้ระยะเวลาเลี้ยงนาน มีต้นทุนสูง และในแต่ละช่วงเวลาคาดเดาราคาได้ยาก ทำให้ตอนที่ขาดทุนเกษตรกรต้องขาดทุนอย่างหนัก วงการนี้จึงต้องเป็นคนที่เลี้ยงมานาน และอาศัยประสบการณ์ที่มีมาแก้ไขปัญหาเพื่อให้อยู่รอด และปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมหมูยิ่งถูกท้าทายด้วย โรคแอฟริกันสไวน์ฟีเวอร์ หรือ ASF ที่กลายเป็นความกดดันให้คนเลี้ยงหมูต้องทำทุกวิถีทาง เพื่อป้องกันไม่ให้โรคนี้เข้ามาทำลายวงการหมูไทยและภาคผู้ปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ตลอดห่วงโซ่การผลิตที่มีมูลค่าสูงถึง 2 แสนล้านบาท ถือว่าโชคดีที่ความพยายามของทุกภาคส่วนทั้งทางภาครัฐ เอกชน และเกษตรกรทั่วประเทศ ที่ช่วยกันเฝ้าระวังและป้องกันโรคนี้อย่างเข้มงวด ด้วยการปิดทุกความเสี่ยงจนทำให้ไทยครองอันดับ “ประเทศเดียวในภูมิภาคนี้ที่ปลอดโรค ASF”

สถานการณ์ปัจจุบันถือเป็นโอกาสทองของหมูไทย ขอให้ทุกฝ่ายเปิดใจกว้างให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูไทยก่อนที่คนเลี้ยงหมูต้องล้มหายตายจากไปอย่างที่เป็นมา และต้องไม่ลืมว่า เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูมีอาชีพเดียว ไม่สามารถเปลี่ยนอาชีพเป็นอย่างอื่นได้ แม้ต้องทนรับราคาตกต่ำสามปีก็ต้องยอมเพราะทั้งชีวิตก็ทำอยู่แค่อาชีพเดียวนี้ ขณะที่ผู้บริโภคเป็นกลุ่มคนที่มีทางเลือก สามารถเลือกบริโภคเนื้อสัตว์ชนิดใดก็ได้ตามต้องการ ยิ่งฤดูกาลนี้ มีอาหารธรรมชาติและโปรตีนทดแทนให้เลือกมากมาย ทั้งปลา ไข่ ไก่ ที่ล้วนราคาไม่แพงทั้งสิ้น

หากสามารถคว้าโอกาสนี้ไว้ได้ ไม่เพียงช่วยให้คนเลี้ยงหมูทั่วประเทศกว่า 200,000 ราย ในจำนวนนี้เป็นเกษตรกรรายย่อยมากถึง 90% หรือราว 180,000 ราย สามารถก้าวผ่านภาระขาดทุนสะสมตลอด 3 ปีไปได้เท่านั้น ประโยชน์ยังต่อเนื่องถึงเกษตรกรผู้ปลูกพืชอาหารสัตว์ ทำให้ราคาพืชผลกลับมาดีอีกครั้ง ถือเป็นเรื่องที่ควรสนับสนุนให้หมูกลายเป็นกุญแจดอกสำคัญ ในการนำพาประเทศไปสู่ความมั่งคั่ง


กำลังโหลดความคิดเห็น