3 องค์กรด้านอุตฯ อาหารเผยปี 2562 ไทยส่งออกอาหารหดตัว 2% ครั้งแรกในรอบ 5 ปี แต่ลำดับโลกดีขึ้นขยับมาสู่อันดับที่ 11 จาก ศก.โลกซึม บาทแข็ง โดยไทยส่งออกไปจีนเป็นตลาดอันดับ 1 ครั้งแรกเป็นประวัติการณ์ มูลค่าทะลุ 1.5 แสนล้านบาทแทนที่ตลาด CLMV คาดแนวโน้มปี 2563 ส่งออกรูปเงินเหรียญฯ โต 5.4%
นางอนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร เปิดเผยว่า ปี 2563 คาดว่าการส่งออกอุตสาหกรรมอาหารในรูปเหรียญสหรัฐจะมีมูลค่าประมาณ 34,900 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 5.4% จากปี 2562 ส่วนมูลค่าส่งออกในรูปเงินบาทยังคงขึ้นอยู่กับทิศทางการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทซึ่งในกรณีเงินบาทแข็งค่าที่ระดับ 29.30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ การส่งออกมีโอกาสหดตัวลง 0.3% มูลค่าส่งออกอยู่ในช่วง 1.02 ล้านล้านบาท แต่ถ้าหากเงินบาทอ่อนค่าลงไปอยู่ที่ระดับ 30.40 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ การส่งออกจะขยายตัวเพิ่มขึ้นได้ 3.5% มูลค่าส่งออกจะทำได้เป็น 1.06 ล้านล้านบาท
สำหรับปี 2562 ดัชนีอุตสาหกรรมอาหารของไทยลดลง 2% ครั้งแรกในรอบ 5 ปี การใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 57.8% ลดลงจากปีก่อนที่ใช้กำลังการผลิต 58.7% เนื่องจากการบริโภคในประเทศอ่อนตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจ รายได้ครัวเรือนลดลง อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับการส่งออกลดลงตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง รวมทั้งยังมีผลกระทบจากการที่เงินบาทแข็งค่าที่กระทบราคาส่งออกสินค้าอาหารลดลงกระทบต่อรายได้เข้าประเทศ โดยการส่งออกมีมูลค่ารวม 1.02 ล้านล้านบาท หดตัวลง 3.8% แต่ขยายตัวเล็กน้อย 0.2% ในรูปเงินดอลลาร์ ด้วยมูลค่า 33,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
จีนก้าวขึ้นมาเป็นตลาดส่งออกอาหารอันดับที่ 1 ของไทยเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ แทนที่กลุ่มประเทศ CLMV โดยไทยส่งออกสินค้าอาหารไปจีนมูลค่า 150,749 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 34% ขณะที่การส่งออกของไทยหากเทียบกับประเทศคู่แข่งใน 20 อันดับแรกของโลก ส่วนใหญ่ส่งออกลดลง ทำให้อันดับ 20 ประเทศส่งออกอาหารโลกปี 2562 ของไทยอันดับดีขึ้นมาเป็นอันดับที่ 11 จากเดิมอยู่ในอันดับที่ 12 ของโลก
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ปัจจัยสนับสนุนสำคัญต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมอาหารไทยในปี 2563 ได้แก่ 1) เศรษฐกิจโลกในปี 2563 ค่อยๆ ฟื้นตัวจากสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่ลดความตึงเครียดลง 2) จีนมีความต้องการนำเข้าสินค้าอาหารจำพวกเนื้อสัตว์มากขึ้นหลังเกิดการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร 3) มหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนที่กำลังจะจัดขึ้นที่ประเทศญี่ปุ่นในช่วงครึ่งปีหลัง จะทำให้เกิดความต้องการสินค้าอาหารเพิ่มขึ้น 4) เศรษฐกิจในประเทศมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากการได้รับแรงหนุนจากแผนงานรัฐบาลปี 2563
ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบ ได้แก่ 1) ต้นทุนการผลิตและการขนส่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามราคาพลังงาน หากสงครามระหว่างอิหร่าน-สหรัฐฯ ปะทุและลุกลาม 2) ความไม่แน่นอนของสถานการณ์ Brexit เพราะจะเกิดความไม่ชัดเจนเรื่องกฎเกณฑ์สินค้า เงื่อนไขการค้า 3) ภัยแล้งจะกระทบทำให้ปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรวัตถุดิบในประเทศลดลง ราคาปรับตัวสูงขึ้น กระทบต้นทุนอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป 4) สินค้าอาหารของไทยบางรายการได้รับผลกระทบจากการถูกสหรัฐฯ ตัด GSP โดยเฉพาะในกลุ่มอาหารสำเร็จรูปจำพวกพาสตา บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เกี๊ยว เป็นต้น 5) ภัยคุกคามจากการขยายตัวของสินค้าอาหารที่ผลิตจากพืชทดแทนเนื้อสัตว์ (plant-based food product) ที่มีต่ออุตสาหกรรมเนื้อสัตว์และอาหารทะเล
นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ค่าเงินบาทมีโอกาสเคลื่อนไหวได้ 2 ทิศทาง จึงอาจเป็นได้ทั้งปัจจัยสนับสนุน หรืออาจเป็นปัจจัยเสี่ยง คือ 1) มีแนวโน้มอ่อนค่าตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทย ความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนผ่อนคลายลง ทำให้นักลงทุนชะลอการลงทุนในเงินบาท และ 2) แนวโน้มแข็งค่าขึ้นหากเครื่องชี้วัดด้านเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ออกมาแข็งแกร่ง โดยค่าเงินบาทที่เปลี่ยนแปลงไปทุกๆ 1 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐจะทำให้มูลค่าส่งออกอาหารไทยเปลี่ยนแปลงไปประมาณ 35,000 ล้านบาท