xs
xsm
sm
md
lg

โตเกียวเอสเอ็มอีฯ ร่วม ก.อุตฯ จัดสัมมนา “ยุทธศาสตร์ไทยแลนด์พลัสวัน” ชูไทยเป็นฮับการผลิตชิ้นส่วนอุตสาหกรรม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งมหานครโตเกียว สำนักงานประเทศไทย (Tokyo SME Support Center) ร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรมจัดงานสัมมนาและเจรจาธุรกิจ “ยุทธศาสตร์ไทยแลนด์พลัสวัน สู่ความเป็นไปได้ทางความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการไทยกับญี่ปุ่น” มุ่งส่งเสริมความร่วมมือในธุรกิจอุตสาหกรรมผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศ CLM โดยมีประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง

ศูนย์ส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งมหานครโตเกียวสำนักงานประเทศไทย (Tokyo SME Support Center) ร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม จัดงาน The 4th Business Connecting 2019 “ยุทธศาสตร์ไทยแลนด์พลัสวัน สู่ความเป็นไปได้ทางความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการไทยกับญี่ปุ่น” ขึ้นในวันจันทร์ที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ ณ ห้องฟูจิ ชั้น ๔ โรงแรมนิกโก้ กรุงเทพฯ วัตถุประสงค์เพื่อเน้นย้ำถึงความสำคัญในการสร้างความร่วมมือทางธุรกิจของทั้งสองประเทศ โดยให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของการทำธุรกิจในประเทศ CLM เนื่องด้วย supply chain ของอุตสาหกรรมการผลิตในประเทศดังกล่าวยังขาดความพร้อมด้านเทคโนโลยีและทักษะงานช่าง จึงมีความเหมาะสมที่จะพัฒนาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของทุกประเทศให้มีความมั่นคงและยั่งยืนต่อไป


โดยภายในงานแบ่งออกเป็น ๒ องค์ประกอบหลัก คือ ช่วงที่ ๑ เป็นสัมมนาสรุปผลการสำรวจโอกาสทางธุรกิจในพื้นที่เศรษฐกิจของประเทศกัมพูชา ลาว และพม่า ภายใต้การบรรยายหัวข้อ “บริษัทไทยและญี่ปุ่นควรร่วมมือกันอย่างไรในการพัฒนาธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพโดยใช้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของ CLM” โดยบริษัท เอ็นอาร์ไอ คอนซัลติ้งแอนด์โซลูชั่น (ไทยแลนด์) จำกัด และการบรรยายพิเศษในหัวข้อ “ยุทธศาสตร์ไทยแลนด์พลัสวันของบริษัทเด็นโซ่” โดยบริษัท เด็นโซ่ อินเตอร์เนชั่นแนล เอเชีย จำกัด มาร่วมแชร์ประสบการณ์การทำธุรกิจทั้งในประเทศไทย กัมพูชา และพม่า

ช่วงที่ ๒ เป็นการเปิดเวทีให้ผู้ประกอบการไทยและญี่ปุ่น ๒๕ บริษัทได้ทำการเจรจาจับคู่ธุรกิจกับผู้เข้าร่วมงานกว่า ๓๐๐ ราย คาดว่าจะก่อให้เกิดการเจรจาธุรกิจระหว่างกันกว่า ๑๐๐ คู่


นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า “ประเทศไทยและญี่ปุ่นนั้นมีความสัมพันธ์อันดีต่อกันอย่างแนบแน่นยาวนานในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านการค้า การลงทุนและอุตสาหกรรม จนกล่าวได้ว่า ญี่ปุ่นเป็นประเทศพันธมิตรทางเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย ซึ่งเห็นได้จากตัวเลขการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ นักลงทุนชาวญี่ปุ่นยังคงเป็นลำดับที่ ๑ ตั้งแต่เดือนมกราคม-กันยายน ปี ๒๕๖๒ มีการยื่นขอ BOI กว่า ๕๙,๑๘๗ ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ ๒๔ ของจำนวนโครงการลงทุนต่างชาติทั้งหมด กระทรวงอุตสาหกรรมให้ความสำคัญต่อประเทศญี่ปุ่นเป็นอย่างยิ่ง โดยในช่วง ๓ เดือนหลังจากที่ผมเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีได้เดินทางไปเยือนประเทศญี่ปุ่นถึง ๒ ครั้ง โดยมีเป้าหมายเพื่อเชื่อมโยงด้านการพัฒนาอุตสาหกรรม รับฟังความคิดเห็น เพื่อนำมาปรับปรุงนโยบายการส่งเสริมการลงทุนให้ตรงต่อความต้องการของนักลงทุนชาวญี่ปุ่น ซึ่งการจัดสัมมนาในหัวข้อ “Thailand Plus One” ถือเป็นอีกหนึ่งนโยบายที่ทำให้เล็งเห็นโอกาสทางการค้าและการลงทุน สามารถสร้างความตระหนักให้กับภาคเอกชนทั้งสองฝ่าย เป็นการเน้นย้ำความร่วมมือระหว่างไทยกับญี่ปุ่น อีกทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสทางความร่วมมือกับประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านของเรา กระทรวงอุตสาหกรรมและ Tokyo SME Support Center จะช่วยสนับสนุนและผลักดัน การเชื่อมโยงความร่วมมือระหว่างภาคอุตสาหกรรมของทั้งสองประเทศ ในฐานะกระทรวงอุตสาหกรรม ผมขอยืนยันกับนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นที่ลงทุนในประเทศไทยแล้วหรือที่วางแผนจะมาลงทุน ว่าจะได้รับการดูแลเป็นอย่างดี และหากท่านประสบอุปสรรคใดๆ ในการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย กระทรวงอุตสาหกรรมยินดีที่จะให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่”

นายมาซาฮิโกะ โฮซากะ ประธานศูนย์ส่งเสริมฯ ประจำประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาการดำเนินภารกิจกว่า ๕๐ ปี ในการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการด้านการบริหารธุรกิจ การสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ การเจาะขยายช่องทางตลาด รวมถึงถ่ายทอดการดำเนินธุรกิจสู่รุ่นต่อไปนั้น มีความต้องการขยายตลาดสู่ประเทศไทยซึ่งเป็นศูนย์กลางของอาเซียนเป็นจำนวนมาก นับตั้งแต่ก่อตั้งสำนักงานประเทศไทยมา ปีนี้ได้เข้าสู่ปีที่ ๕ ซึ่งมีผู้ประกอบการมาใช้บริการขอรับคำปรึกษาด้านกฎหมาย การบัญชี การตลาด ยุทธศาสตร์การบริหารบริษัท ฯลฯ รวมถึงเข้าร่วมสัมมนาภายในและใช้บริการจับคู่ธุรกิจกว่า ๑,๐๐๐ รายทุกปี โดยเฉพาะภายหลังจากการลงนาม MOU ร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ก่อเกิดความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนเครือข่ายผ่านการจัดงานร่วมกันกว่า ๑๕ ครั้งในระยะ ๔ ปีที่ผ่านมา เช่น การร่วมออกงานแสดงสินค้าไทยแลนด์อินดัสเตรียลแฟร์ กิจกรรมเจรจาจับคู่ธุรกิจ ณ ประเทศญี่ปุ่น รวมถึงการเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์และการเพิ่มศักยภาพของอุตสาหกรรมอาหารไทย ตามนโยบายไทยแลนด์ ๔.๐ ผ่านบริการเจรจาจับคู่ธุรกิจ งานแลกเปลี่ยนเครือข่ายระหว่างประเทศไทยกับญี่ปุ่น เป็นต้น โดยงานสัมมนาในวันนี้ถือเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ถูกจัดขึ้นทุกปี เพื่อสร้างเวทีให้แก่ผู้ประกอบการไทยและญี่ปุ่นให้เกิดความร่วมมือและแลกเปลี่ยน สานสัมพันธ์ทางธุรกิจและการค้าซึ่งกันและกัน ซึ่งหัวข้อที่จัดขึ้นในปีนี้ได้มุ่งเน้นหาความเป็นไปได้ทางความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการไทยกับญี่ปุ่นในประเทศ CLM เนื่องด้วยประเทศไทยซึ่งล้อมรอบไปด้วยกลุ่มประเทศที่เศรษฐกิจกำลังพัฒนาอย่างโดดเด่นกำลังได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในฐานะฐานและศูนย์กลางของผู้ผลิตสินค้า ทำให้ทางศูนย์ส่งเสริมฯ เล็งเห็นถึงความเป็นไปได้และประสิทธิภาพของความร่วมมือระหว่างทั้งสองประเทศ หวังกระตุ้นเศรษฐกิจในแต่ละประเทศให้เติบโตยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ในปี ๒๕๖๓ กรุงโตเกียวในฐานะเจ้าภาพการจัดงานแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ยังได้รับความสนใจจากต่างประเทศเป็นอย่างมาก จึงถือเป็นโอกาสอันดีในการสร้างเวทีการแลกเปลี่ยนทางธุรกิจของทั้งสองประเทศผ่านบริการของศูนย์ส่งเสริมฯ




กำลังโหลดความคิดเห็น