xs
xsm
sm
md
lg

สภาอุตฯ-สภาหอฯ-สถาบันอาหาร เผยส่งออกอาหารปี 62 หดตัว 3.8% ลุ้นปี 63 ฝ่าปัจจัยเสี่ยง ตรึงเป้า 1 ล้านล้านบาท

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



3 องค์กรด้านอุตฯอาหารเผย ปี 2562 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอาหารของไทยลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี ที่ร้อยละ 2.0 ด้านการส่งออกสินค้าอาหารมีมูลค่า 1.02 ล้านล้านบาท หดตัวลงเช่นกันที่ร้อยละ 3.8 แต่ขยายตัวเล็กน้อยร้อยละ 0.2 ในรูปเงินดอลล่าร์สหรัฐ ด้วยมูลค่า 33,100 ล้านเหรียญสหรัฐ ด้าน 3 ปัจจัยหลักกระทบส่งออก ชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ค่าของเงินบาท และราคาอาหารโลกที่ปรับตัวลดลง ชี้จีนส่งออกอาหารมาไทยเป็นอันดับ1 เป็นครั้งแรก มูลค่า 150,749 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 34.0 แทนที่กลุ่มประเทศ CLMV

ส่วนแนวโน้มปี 2563 การส่งออกในรูปเงินดอลล่าร์สหรัฐ ประเมินว่าจะมีมูลค่าราว 34,900 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4 ส่วนมูลค่าส่งออกในรูปเงินบาทยังคงขึ้นอยู่ทิศทางของค่าเงินบาท ส่วนเป้าส่งออกคาดหดตัวลงร้อยละ 0.3 และขยายตัวเพิ่มร้อยละ 3.5 โดยตั้งเป้า มูลค่าส่งออกอาหารปี2563 ไว้ที่ 1.02 – 1.06 ล้านล้านบาท


นางอนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร หน่วยงานเครือข่ายกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ในการประสานความร่วมมือของ 3 องค์กร ในส่วนของสถาบันอาหารจะทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องภายใต้การดำเนินงานของ ศูนย์อัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร หรือ Food Intelligence Center โดยมีสภาอุตสาหกรรมฯ และสภาหอการค้าฯ ร่วมบูรณาการข้อมูล พบว่า ในปี 2562 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอาหารของไทยลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี โดยลดลงร้อยละ 2.0 การใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ร้อยละ 57.8 ลดลงจากร้อยละ 58.7 ในปีก่อน เนื่องจากการบริโภคภายในประเทศที่อ่อนตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจ รายได้ครัวเรือนลดลง และอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับภาคการส่งออกที่หดตัวลงตามเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว เงินบาทแข็งค่า และราคาส่งออกสินค้าอาหารที่ลดลงกระทบต่อรายได้เข้าประเทศ

ด้านการส่งออกอาหารของไทยในปี 2562 มีมูลค่า 1,025,500 ล้านบาท หรือ 33,100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวลงร้อยละ 3.8 ในรูปเงินบาท แต่ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 ในรูปดอลล่าร์สหรัฐ ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 401,300 ล้านบาท หดตัวลงร้อยละ 0.1 โดยสินค้าอาหารส่งออกหลัก 6 รายการ ที่มีมูลค่าลดลง ได้แก่ ข้าว (-22.0%) น้ำตาลทราย (-13.7%) ปลาทูน่ากระป๋อง (-6.0%) แป้งมันสำปะหลัง(-2.8%) กุ้ง (-9.2%) และสับปะรด (-15.7%) ส่วนสินค้า 4 รายการที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ไก่ (+0.8%) เครื่องปรุงรส (+4.0%) มะพร้าว (+3.8%) และอาหารพร้อมรับประทาน (+4.6%) ซึ่งการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก การแข็งค่าของเงินบาท และราคาอาหารโลกที่ปรับตัวลดลง เป็น 3 ปัจจัยหลักที่ฉุดมูลค่าส่งออกสินค้าอาหารไทยให้ลดต่ำลง

“ในปี 2562 ที่ผ่านมา จีนก้าวขึ้นมาเป็นตลาดส่งออกอาหารอันดับที่ 1 ของไทยเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ แทนที่กลุ่มประเทศ CLMV โดยไทยส่งออกสินค้าอาหารไปจีนมูลค่า 150,749 ล้านบาท มีอัตราขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 34.0 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 14.7 ของมูลค่าการส่งออกอาหารทั้งหมด มีสินค้าส่งออกหลักที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นในกลุ่มสินค้าผักและผลไม้ ไก่สดแช่แข็ง รวมถึงกุ้งแช่เย็นแช่แข็ง หากพิจารณาจากตลาดส่งออกหลักทั้ง 7 ตลาด ได้แก่ จีน CLMV ญี่ปุ่น อาเซียนเดิม สหรัฐฯ สหภาพยุโรป กลุ่มประเทศตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ(MENA) จะพบว่ามีเพียงตลาดจีน (+34.0%) MENA (+3.7%) และสหรัฐฯ (+0.5%) ที่มีการส่งออกเพิ่มสูงขึ้น โดยตลาดจีนและสหรัฐฯ ที่เพิ่มสูงขึ้นเกิดจากอานิสงส์ที่ไทยได้รับจากสงครามการค้าระหว่างทั้งสองชาติ ส่วนตลาดอื่น ๆ หดตัวลงตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยภาพรวมการค้าอาหารโลกในปี 2562 ประเมินว่ามีมูลค่าราว 1.318 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวลงร้อยละ 0.6”


สำหรับแนวโน้มการส่งออกอาหารไทยปี 2563 ในรูปเงินดอลล่าร์สหรัฐคาดว่าจะมีมูลค่าส่งออกราว 34,900 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4 ส่วนในรูปเงินบาทคาดว่าจะมีมูลค่าอยู่ระหว่าง 1,022,610 – 1,061,000 ล้านบาท โดยมีโอกาสหดตัวลงร้อยละ 0.3 จนถึงขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 เนื่องจากเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้าๆ และค่าเงินบาทมีโอกาสเคลื่อนไหวได้ 2 ทิศทาง ภายใต้สมมติฐานค่าเงินบาทอยู่ระหว่าง 29.30 – 30.40 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ และเศรษฐกิจโลกขยายตัวร้อยละ 3.4 กลุ่มสินค้าที่คาดว่ามูลค่าส่งออกจะขยายตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าว(+0.5%) ไก่(+8.0%) ปลาทูน่ากระป๋อง(+6.3%) แป้งมันสำปะหลัง(+6.4%) กุ้ง(+4.2%) เครื่องปรุงรส(+7.5%) มะพร้าว(+6.0%) สับปะรด(+7.0%) และอาหารพร้อมรับประทาน(+5.5%) ส่วนที่คาดว่าจะลดลง คือ น้ำตาลทราย (-5.0%)




สำหรับปัจจัยสนับสนุนสำคัญต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมอาหารไทยในปี 2563 ได้แก่ 1) เศรษฐกิจโลกในปี 2563 ค่อยๆ ฟื้นตัวจากสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่ลดความตึงเครียดลง 2) จีนมีความต้องการนำเข้าสินค้าอาหารจำพวกเนื้อสัตว์มากขึ้นหลังเกิดการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร 3) มหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนที่กำลังจะจัดขึ้นที่ประเทศญี่ปุ่นในช่วงครึ่งปีหลัง จะทำให้เกิดความต้องการสินค้าอาหารเพิ่มขึ้น 4) เศรษฐกิจในประเทศมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากการได้รับแรงหนุนจากแผนงานรัฐบาลปี 2563 ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบ ได้แก่ 1) ต้นทุนการผลิตและการขนส่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามราคาพลังงาน หากสงครามระหว่างอิหร่านและสหรัฐฯ ปะทุและลุกลาม 2) ความไม่แน่นอนของ

สถานการณ์ Brexit เพราะจะเกิดความไม่ชัดเจนเรื่องกฎเกณฑ์สินค้า เงื่อนไขการค้า 3) ภัยแล้งจะกระทบทำให้ปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรวัตถุดิบในประเทศลดลง ราคาปรับตัวสูงขึ้น กระทบต้นทุน อุตสาหกรรมอาหารแปรรูป 4) สินค้าอาหารของไทยบางรายการได้รับผลกระทบจากการถูกสหรัฐฯ ตัด GSP โดยเฉพาะในกลุ่มอาหารสำเร็จรูปจำพวกพาสต้า บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เกี๊ยว เป็นต้น 5) ภัยคุกคามจากการขยายตัวของสินค้าอาหารที่ผลิตจากพืชทดแทนเนื้อสัตว์(plant-based food product) ที่มีต่ออุตสาหกรรมเนื้อสัตว์และอาหารทะเล

“การที่ค่าเงินบาทมีโอกาสเคลื่อนไหวได้ 2 ทิศทาง จึงอาจเป็นได้ทั้งปัจจัยสนับสนุน หรืออาจเป็นปัจจัยเสี่ยง คือ 1) มีแนวโน้มอ่อนค่าตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทย ความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนผ่อนคลายลง ทำให้นักลงทุนชะลอการลงทุนในเงินบาท และ2) แนวโน้มแข็งค่าขึ้นหากเครื่องชี้วัดด้านเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ออกมาแข็งแกร่ง ไม่ว่าจะเป็นผลประกอบการของภาคธุรกิจ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ยอดค้าปลีก ตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆ ที่บ่งชี้กำลังซื้อ ตลาดแรงงานและตัวเลขตำแหน่งงานใหม่ รวมทั้งตลาดหุ้นสหรัฐฯ เป็นต้น โดยค่าเงินบาทที่เปลี่ยนแปลงไปทุกๆ 1 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ จะทำให้มูลค่าส่งออกอาหารไทยเปลี่ยนแปลงไปประมาณ 35,000 ล้านบาท”

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *



กำลังโหลดความคิดเห็น