กสิกรไทยประเมินเศรษฐกิจไทยปีนี้ขยายตัว 2.7% จากแรงหนุนการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ ด้านภัยแล้งอาจฉุดเศรษฐกิจโตต่ำเป้า
นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธนาคารกสิกรไทยประเมินเศรษฐกิจไทยปีนี้ขยายตัว 2.7% หากความรุนแรงของสงครามการค้าไม่รุนแรงมาก มีปัจจัยสนับสนุนจากการเบิกจ่ายงบประมาณ คาดว่าจะเบิกจ่ายได้ภายในไตรมาส 2/2563 และการลงทุนภาครัฐที่คาดว่าปีนี้จะขยายตัว 6.9% ขณะที่ภัยแล้งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่เข้ามากระทบต่อเศรษฐกิจปีนี้ คิดเป็นเม็ดเงินมากกว่า 20,000 ล้านบาท หรือ 0.1% ของจีดีพี และหากภัยแล้งเสียหายมากกว่าที่ประเมินไว้ และตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/2562 ที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จะประกาศวันที่ 17 กุมภาพันธ์นี้ออกมาแย่ ก็มีโอกาสที่จะปรับประมาณการจีดีพีปีนี้ใหม่อีกครั้ง
ขณะที่เศรษฐกิจโลกปีนี้คาดจะขยายตัว 3.4% โดยมีสัญญาณดีขึ้นหลังจากการลงนามข้อตกลงการค้าระยะที่ 1 ระหว่างสหรัฐฯ กับจีน พร้อมประเมินว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีแนวโน้มลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 1 ครั้งในช่วงกลางปีนี้ ด้านเศรษฐกิจจีนเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวขึ้น อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ ยังตั้งเงื่อนไขกับจีน โดยให้จีนซื้อสินค้าจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายใน 2 ปีข้างหน้า และยังไม่ปลดล็อกภาษีที่ขึ้นมาก่อนหน้านี้ประมาณ 370,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลกระทบการค้า ส่งออกของประเทศคู่ค้า เช่น ไทยที่คาดว่าการส่งออกปีนี้จะติดลบ 1%
ด้านค่าเงินบาทคาดจะยังแข็งค่าจากการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดลง 2 ครั้ง และการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่คาดอยู่ที่ 31,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ช่วงครึ่งปีแรกค่าเงินบาทจะแข็งค่าที่ 29.75 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และสิ้นปีอยู่ที่ 29.25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยเดือนมกราคมนี้มีแนวโน้มอ่อนค่าลงบ้าง หลังจากค่าเงินบาทแข็งค่ามากที่สุดในภูมิภาคในปี 2562 อย่างไรก็ตาม มองว่าค่าเงินบาทจะเป็นที่น่าสนใจน้อยกว่าค่าเงินเอเชียสกุลอื่นๆ นอกจากนี้ จะมีการออกมาตรการผ่อนคลายเกณฑ์การเปิดเสรีเงินทุนเคลื่อนย้ายเพิ่มเติม เพื่อลดแรงกดดันที่เงินบาทแข็งค่าจนเกินไป
ส่วนปีนี้คาดคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีแนวโน้มที่จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 1.25% หรือหากจะมีการปรับลดน่าจะลดลงเพียงเล็กน้อย เพราะอัตราดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบันถือว่าอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเมื่ออัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับต่ำจะไม่ค่อยเห็นประสิทธิภาพมากนัก โดยหาก กนง.จะลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีก เชื่อว่าน่าจะลดเพียง 1 ครั้ง 0.25% ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยต่ำที่สุดในประวัติการณ์อีกครั้งที่ระดับ 1.00%
ด้านดุลบัญชีเดินสะพัดปีนี้คาดว่ายังเกินดุลอยู่ที่ 33,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ใกล้เคียงปีก่อน สะท้อนว่า เศรษฐกิจไทยยังไม่สมดุล เนื่องจากภาครัฐเก็บภาษีในระดับที่สูง และหาช่องทางการเก็บภาษีใหม่ๆ เพื่อสร้างรายได้เข้ามา ทำให้กำลังซื้อของประชาชนลดลง จึงอยากให้ภาครัฐปรับภาษีใหม่ทั้งหมด เพื่อจูงใจให้ผู้ประกอบการนำเข้าสินค้าได้มากขึ้น และทำให้ลูกค้าเข้าถึงสินค้ามากขึ้น
ขณะที่มาตรการ LTV นั้น มองว่าจะเพิ่มความยืดหยุ่น แต่หนี้ครัวเรือนยังสูง โดยตอนนี้หนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 79% ของจีดีพี และหนี้ครัวเรือนต่อรายได้สูงถึง 220% สะท้อนว่าไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการบริโภคและตอนนี้ชิมช้อปใช้ เฟส 4 ยังไม่ได้มีมาตรการออกมา แต่มองว่ามาตรการทางการคลังจะสามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากกว่าการออกมาตรการไปกระตุ้นการบริโภค