บลจ.กรุงไทย ลุ้นAUMแตะล้านล้านบาทใน3ปี ส่วนปีนี้คาดโตอีกแสนล้านบาท พร้อมโชว์ปี62ยอดโต6.6%ดันยอดรวมแตะ 8.27 แสนล้านบาทแล้ว ชูกลยุทธ์ะกระจายลงทุนต่างประเทศ เพิ่มความร่วมมือกับกรุงไทย และพัฒนาเทคโนโลยี เป็นตัวขับเคลื่อนธุรกิจ แนะนักลงทุนกระจายการลงทุนต่างประเทศมากขึ้น หลังปีที่ผ่านมาผลตอบแทนพุ่งระดับ2หลัก ส่วนปีนี้ล็อกเป้าหุ้นสหรัฐฯ-ตลาดเกิดใหม่เอเชีย เหตุUSพื้นฐานแกร่ง เอเชียราคาถูก
นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผย ผลการดำเนินงานในปีที่ผ่านมาบริษัทมีมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การจัดการ (AUM) รวมสุทธิ ณ วันที่ 30 ธันวาคม 2562 อยู่ที่ 8.27 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น5.4 หมื่นล้านบาท เป็นอัตราการเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 6.6 เมื่อเทียบกับปี 2561 โดยเป็นการเติบโตจากทั้ง 3 ธุรกิจกองทุนประกอบด้วย กองทุนรวม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และกองทุนส่วนบุคคล ส่งผลให้บริษัทมี Market Share เป็นลำดับที่ 4 ของตลาดการลงทุน
ทั้งนี้ ในปี 2563 นี้ บริษัทตั้งเป้าหมายมูลค่าทรัพย์สินสุทธิเพิ่มขึ้นประมาณ 1 แสนล้านบาท หรือประมาณ 12% โดยในไตรมาสแรกของปีนี้ บริษัทมีแผนที่จะเปิดจำหน่ายกองทุนควบประกันสุขภาพ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการยื่นขออนุมัติจัดตั้งกองทุนกับก.ล.ต. และยังมีแผนที่จะเปิดจำหน่ายกองทุนอื่นๆอีกมากมาย โดยบริษัทกำลังดูความเหมาะสมและจังหวะในการเปิดจำหน่าย ซึ่งบริษัทจะคำนึงถึงโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ลงทุน
"ปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมกองทุนได้รับผลตอบเช่นเดียวกับธุรกิจอื่น สงครามการค้าส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยมากที่สุด ประกอบกับเบิกจ่ายงบประมาณที่ล่าช้าก็ส่งผลให้การลงทุนและการบริโภคชะงักงั้นไปด้วยแต่ภาพรวมแล้วทั้งระบบกองทุนก็ยังโตได้ประมาณ7% ส่วนถ้าถามว่า3 ปีต่อจากนี้เอยูเอ็มของบริษัทจะขึ้นไปแตะที่ระดับล้านล้านบาทได้หรือไม่ส่วนตัวก็อยากเห็นให้ขึ้นไประดับนั้น แต่ถ้าจะบอกว่าเราจะโตแทรกขึ้นเป็นอันดับ3ของทั้งระบบหรือเปล่าคงต้องดูว่าเราสามารถโตได้มากกว่าหรือเปล่า เพราะในแต่ละปีเขาก็โตขึ้นเหมือนกัันฉนั้นถ้าจะให้แซงคงต้องโตมากกว่าเยอะในแต่ละปี"นางชวินดากล่าว
นางชวินดา กล่าวอีกว่า สำหรับปีนี้บริษัทเน้นหลักกลยุทธ์เป็น 3 ส่วน อันได้แก่1) ให้ความสำคัญในการกระจายพอร์ตการลงทุนและการบริหารจัดการกองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศเพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนมากขึ้น โดยเฉพาะตลาดเกิดใหม่ ที่ KTAM มองว่ายังเป็นแหล่งลงทุนที่น่าสนใจ มองเห็นโอกาสในการเติบโตไปในเชิงบวก ซึ่งในปี 2562 ที่ผ่านมาพบว่า กว่าร้อยละ 97 ของกองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศของ KTAM มีการเติบโตเกือบทั้งหมด และส่วนใหญ่เติบโตระดับ 2 หลัก ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ท่ามกลางความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน และสถานการณ์เงินบาทแข็งค่า ในช่วงที่ผ่านมา KTAM ก็ยังคงสามารถบริหารจัดการกองทุน บริหารอัตราแลกเปลี่ยนของกองทุนได้อย่างมีศักยภาพสามารถสร้างผลตอบแทนแก่นักลงทุนเป็นอย่างดี ดังนั้น ในปีนี้ KTAM จะยังคงเดินหน้ารุกผลิตภัณฑ์กองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศ ซึ่ง KTAM ได้มีการคัดเลือกมาอย่างดีและกระจายไปหลาย Asset Class เพื่อรองรับการกระจายการลงทุนให้แก่ลูกค้า ด้วยความเชื่อที่ว่า ตลาดการลงทุนในปัจจุบันสามารถจะเชื่อมต่อกันโดยไร้ขอบเขต เพราะฉะนั้นเงินลงทุนก็สามารถไหลเวียนกันได้อย่างคล่องตัวเช่นกัน
2) การผสานความร่วมมือกับธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) โดยเฉพาะในด้านดิจิทัลแพลตฟอร์ม เพื่อให้บริการและนำเสนอผลิตภัณฑ์อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งกลุ่มลูกค้ารายใหญ่และรายย่อย และรวมถึงความร่วมมือกับพันธมิตรตัวแทนสนับสนุนการขายและรับซื้อคืนหน่วยลงทุนด้วย ซึ่งในปี 2562 ที่ผ่านมาธุรกรรมกองทุนของ KTAM ที่เกิดขึ้นผ่านแอพพลิเคชั่น Next ของธนาคารกรุงไทย มียอดซื้อกว่า 14,000 ล้านบาท และธุรกรรมกองทุนของ KTAM ที่เกิดขึ้นผ่านแอพพลิเคชั่น KTAM Smart Trade มียอดซื้อกว่า 8,000 ล้านบาท และ KTAM จะยังคงเดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีในการทำธุรกรรมให้ดียิ่งขึ้นตอบโจทย์ในความรวดเร็ว ง่าย และสะดวกสบายแก่ผู้ลงทุนทุกกลุ่มเป้าหมาย
3) การพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อต่อยอดการให้บริการให้เป็น Best Investment Solutions เพื่อตอบโจทย์นักลงทุนในยุคดิจิตอลที่ต้องการความง่าย และสะดวกสบาย เพิ่มความสะดวกแก่นักลงทุนผ่านดิจิทัลแพลทฟอร์มที่มีให้ดีมากยิ่งขึ้น เพื่อรองรับการเข้าถึงอินเตอร์เน็ทของลูกค้า และเทรนด์ของนักลงทุนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน ซึ่งในปี 2562 ที่ผ่านมา KTAM ได้เปิดตัว LINE@ เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการหาความรู้ บทความและเนื้อหาที่น่าสนใจเกี่ยวกับการลงทุน ตอบสนองในการเป็นเพื่อนคู่คิด ที่ปรึกษา และมีนักลงทุนที่สนใจเป็นผู้ติดตามมากถึง 235,625 ราย รวมถึง Facebook ที่มีผู้ติดตามมากกว่า 180,000 ราย และสำหรับในปี 2563 นี้ KTAM จะมุ่งเน้นการนำเสนอคอนเทนท์ที่ง่ายและเข้าถึงผู้ลงทุนทั่วไปมากยิ่งขึ้น เพื่อให้คนเห็นความสำคัญของการออมผ่านกองทุนต่างๆ
ทั้งนี้ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนและลูกค้าสัมพันธ์ ของ KTAM มองว่า ในปีนี้ 2563 อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยอยู่ที่ระดับ 2.8 % ต่อปีดีขึ้นกว่าในปีก่อนที่คาดว่าจะขยายตัวที่ 2.4% โดยแรงขับเคลื่อนหลักๆ มาจากงบประมาณปี 2563 ที่ผ่านสภาฯ นโยบายการลงทุนของภาครัฐ โดยเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและโครงการ EEC รวมถึงภาคการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะขยายตัวได้ต่อเนื่อง ขณะที่ภาวะดอกเบี้ยต่ำยังถือเป็นปัจจัยบวกที่สำคัญอีกประการ อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญความท้าทายในหลายๆ ด้าน ทั้งปัจจัยระยะยาวอย่างปัญหาประชากรสูงวัย และการเข้ามามีบทบาทสำคัญของเทคโนโลยี (Technology Disruption) และปัจจัยระยะสั้น อย่าง ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ความเสี่ยงของการขยายตัวเศรษฐกิจโลก และปัญหาปริมาณน้ำในเขื่อนต่ำ ทำให้เราคาดว่า กนง. อาจมีลดดอกเบี้ยเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจอีกครั้ง ดอกเบี้ยนโยบาย ณ สิ้นปีน่าจะอยู่ที่ 1.00%
สำหรับแนวโน้มดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยในปีนี้ บริษัทประเมินกรอบดัชนีฯ ไว้ที่ 1,700 จุด โดยคาดว่ากำไรของบริษัทจดทะเบียนจะขยายตัวราว 6% และมีสัดส่วน P/E อยู่ที่ประมาณ 18 เท่าใกล้เคียงกับปีก่อน ซึ่งแม้ว่าจะสูงกว่าในอดีตแต่ก็เป็นตามภาวะดอกเบี้ยที่ต่ำ โดยภาวะการลงทุนยังคงเผชิญกับความผันผวนต่อเนื่อง โดยตลาดฯ ได้รับปัจจัยบวกจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่เริ่มมีการฟื้นตัว การลงทุนภาครัฐและการเบิกจ่ายงบประมาณใหม่ ผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนที่น่าจะดีขึ้น และสภาพคล่องที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยปัจจัยที่ต้องติดตามได้แก่ ความขัดแย้งระหว่างประเทศที่อาจปะทุขึ้นใหม่ การเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ พัฒนาการของ Brexit ท่าทีของธนาคารกลางต่างๆ ความอ่อนแอของเศรษฐกิจในประเทศ แรงกดดันจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ความไม่แน่นอนจากการเปลี่ยนแปลงกฏระเบียบต่างๆ ของภาครัฐ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงมาตรฐานการบัญชี เป็นต้น สำหรับกลยุทธ์การลงทุนในตราสารทุนในประเทศสำหรับปี 2563 เราเน้นลงทุนในหุ้นที่ได้รับผลดีจากแนวโน้มดอกเบี้ยต่ำ, หุ้นที่ได้รับผลดี การคลายความวิตกต่อ “สงครามการค้า”, หุ้นที่ราคาต่ำกว่ามูลค่าพื้นฐานและปรับตัวลงมาแรง, หุ้นที่ได้รับผลดีจากการย้ายฐานการผลิต เนื่องจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน หรือหุ้นที่คาดผลประกอบการดีขึ้นในปีนี้
ในส่วนของการจัดพอร์ตการลงทุน KTAM ยังคงแนะนำให้ผู้ลงทุนกระจายความเสี่ยง (Diversification) ไปในหลายสินทรัพย์และหลายภูมิภาค เนื่องจากตลาดการเงินมีความผันผวนมากขึ้นในระยะหลัง การจัดพอร์ตการลงทุนที่เหมาะสมกับความเสี่ยงที่ยอมรับได้จึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยในช่วงต้นปีเรายังคงมองว่าสินทรัพย์เสี่ยงน่าจะได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ หลังนักลงทุนคลายความกังวลการเกิดภาวะถดถอย จึงเน้นให้ลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยอาจเน้นการลงทุนมาในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ (EM) ที่น่าจะเห็นการฟื้นตัวที่ชัดกว่า และ Valuation ไม่ได้ “แพง” มาก รวมถึงตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่ยังมีพื้นฐานที่แข็งแกร่ง ในระยะถัดไป นักลงทุนอาจต้องระวังแรงขายทำกำไร และปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่อาจพัฒนากลายเป็นปัจจัยกดดันการลงทุนในอนาคต