ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ยังคงสร้างความกังวลอย่างต่อเนื่องในปี 2563 นี้ หลังเกิดกรณี “เงินบาทแข็งค่าชนิดที่ว่าทุบสถิติแข็งค่ามากที่สุดในรอบ 6 ปี หลุด 30 บาทต่อเหรียญสหรัฐ” ส่งท้ายปีให้อกสั่นขวัญแขวน โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจส่งออกรับผลกระทบไปเต็มๆ โอกาสฟื้นริบหรี่เหลือทนท่ามกลางสงครามการค้าของสองบิ๊กเบิ้มจีน-สหรัฐฯ ยังคุกรุ่น และทำท่าจะลามถึงธุรกิจท่องเที่ยวอีกด้วย
สถานการณ์ค่าบาท ณ เวลานี้ บรรดาสำนักวิจัยเศรษฐกิจและนักวิชาการ ต่างวิเคราะห์ไปในทิศทางเดียวกันว่า ปี 2563 ยังมีปัจจัยกดดันค่าเงินบาทให้แข็งค่าต่อเนื่อง ส่วนจะเป็นปีแห่งการเผาจริง เผาหลอก หรือผ่านจุดต่ำสุดกันไปแล้ว อีกไม่นานคงได้เห็นว่าใครคาดการณ์ได้ใกล้เคียงความเป็นจริงที่สุด
ส่วนรายการเขย่าขวัญช่วงวันส่งท้ายปีที่ค่าบาทแข็งสุดหลุด 30 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ นั้น นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ชี้แจงแถลงไขแล้วว่ามีการเร่งทำธุรกรรมการเงินก่อนปี อย่าตกใจกับความผันผวนระยะสั้น หลังผ่านวันหยุดยาวแล้วสภาพคล่องจะกลับสู่ภาวะปกติ และ ธปท. จะดูแลการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิดให้สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐาน
“หลังจากผ่านช่วงวันหยุดยาวไปแล้ว สภาพคล่องของตลาดจะกลับสูงขึ้นเป็นปกติ ธุรกรรมจะสมดุลมากขึ้นระหว่างฝั่งซื้อและขายเงินตราต่างประเทศ และความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนจะลดลง....” รองผู้ว่าการฯ แบงก์ชาติ อธิบาย
รองผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ยังกล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แสดงความเป็นห่วงสถานการณ์ค่าเงินบาทนั้น ธปท. ยืนยันว่า ธปท. ได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตลอด ซึ่งเรื่องนี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน
ขณะเดียวกัน มองว่า ค่าเงินบาทและค่าเงินในภูมิภาคมีโอกาสเคลื่อนไหวอ่อนค่าได้มากขึ้น เนื่องจากนักลงทุนเริ่มปรับมุมมองที่ไม่ได้มองเงินบาทและค่าเงินในตลาดเกิดใหม่เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย (safe haven) อีกต่อไป ส่วนหนึ่งมาจากเงินบาทแข็งค่าเกินปัจจัยพื้นฐานที่จะลงทุน และจากการที่ ธปท.ได้มีมาตรการผ่อนคลายในหลายเรื่อง
อย่างไรก็ดี ในระยะต่อไปค่าเงินบาทคงจะเคลื่อนไหวได้ 2 ทิศทางมากขึ้น ซึ่งยอมรับว่า กนง. มีความกังวลเกี่ยวกับค่าเงินบาท และพร้อมที่จะดำเนินมาตรการที่เหมาะสม ขณะที่มาตรการผ่อนคลายทางการเงิน หรือ QE ในประเทศไทยนั้น มองว่ายังไม่มีความจำเป็น เพราะประเทศที่ทำคือประเทศที่เกิดวิกฤต ซึ่งย้ำว่าประเทศไทยยังมีสภาพคล่องเหลือเฟือ
ขณะที่ “นายอุตตม สาวนายน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงสถานการณ์เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นในรอบกว่า 6 ปีว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และบริหารจัดการตามข้อเท็จจริง โดยได้มีการหารือกับกระทรวงการคลังอย่างต่อเนื่อง แต่ยอมรับว่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย รวมทั้งเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลต่อการส่งออกของทุกประเทศด้วยเช่นกัน
ถึงแม้แบงก์ชาติจะออกมาเรียกความเชื่อมั่นและสัญญาจะดูแลค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิดก็ตาม ในมุมของ นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อธิบายความให้เข้าใจง่ายๆ ถึงสถานการณ์ค่าเงินบาทที่หลุดกรอบและการเทกแอ็กชันของแบงก์ชาติว่า “.... ภาษาชาวบ้านก็คือ ตลาดมันบาง การซื้อขายนิดเดียวก็ทำให้ค่าเงินหลุดจากทิศทางปกติ แต่ก็บ่งชี้ว่า ถ้าหากแบงก์ชาติจะแทรกแซงมิให้หล่นไปต่ำกว่า 30 บาท ก็จะทำได้ง่าย ใช้เงินนิดเดียว แต่ไม่ทำ
“แต่ผมขอเรียนว่า ระดับ 30 บาทนั้น เป็นระดับจิตวิทยา ดังนั้น แบงค์ชาติควรจะได้ดูแลใกล้ชิดมากกว่านี้ แทนที่จะปล่อยให้คนตกอกตกใจ แล้วมาอธิบายภายหลัง ในเรื่องตลาดเงิน จำเป็นต้องบริหารจัดการทั้งภาพจริง reality และภาพในใจชาวบ้าน perception และยิ่งกรณีนี้ การจัดการก็จะใช้เงินนิดเดียว จึงควรจะทำ” นายธีระชัย ให้ความเห็น
นับเป็นบททดสอบการรับมือกับค่าเงินบาทแข็งค่าของแบงก์ชาติว่าจะรับมือกับความผันผวนของค่าเงินได้หรือไม่ เพราะเอาเข้าจริงแล้วสถานการณ์ค่าเงินบาทของไทยยังมีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่อง ดังที่ทางศูนย์วิจัยกรุงไทยคอมพาส ธนาคารกรุงไทย ระบุว่า ได้ประเมินค่าเงินบาทในปี 2563 มีโอกาสแข็งค่าจนหลุดจาก 30.00 บาทต่อดอลลาร์เช่นเดียวกัน โดยคาดเงินบาทจะแข็งค่าสุดถึง 29.00 บาทต่อดอลลาร์ เพราะยังมีปัจจัยทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น สถานการณ์ความตึงเครียดการเมือง สงครามการค้าสหรัฐกับจีน และการดำเนินนโยบายการเงินของทั่วโลก
ทางด้าน โกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ระบุแนวโน้มค่าเงินบาทในปี 63 ยังมีโอกาสแข็งค่า คาดว่าจะแข็งสุด 29.25 บาทต่อดอลลาร์ โดยยังจับตาความเสี่ยงสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ และจีน รวมทั้งความเสี่ยงทางการเมืองในสหรัฐที่จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่ ความคืบหน้าสหราชอาณาจักรจะออกจากสหภาพยุโรป (เบร็กซิท)
ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเนื่องจากการเทขายสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ออกมาอ่อนแอกว่าที่คาดทั้งยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน รวมไปถึงยอดขายบ้านใหม่ แต่กรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทจะอยู่ในกรอบแคบๆ
ส่วนแนวโน้มค่าเงินบาทในปี 2563 ต้องจับตาสงครามการค้าสหรัฐฯกับจีน เพราะยังจะมีปัญหาต่อเนื่องไปจนกว่าจะทราบผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในปลายปี 2563 และมองว่าธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)จะลดดอกเบี้ย 0.25% ไปอีก 2 ครั้งช่วงก่อนเดือนก.ย.63 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งจะมีแรงกดดันทำให้ค่าเงินบาทสิ้นปี 63 แข็งค่าถึง 29.25 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งจะแข็งค่าเป็นสถิติใหม่หลังจากปี 62 แข็งค่าสุดในรอบ 6 ปีที่ 30.15 บาทต่อดอลลาร์
ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ซึ่งจัดเสวนาเรื่อง “แนวโน้มธุรกิจท่ามกลางโจทย์หินปี 2563” ประเมินว่าธุรกิจไทยเผชิญหลายโจทย์หินทั้งเงินบาทแข็ง ภัยแล้ง และการปรับขึ้นของค่าจ้างขั้นต่ำ โดย นางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด มองว่าการชะลอตัวของการส่งออกจากผลของสงครามการค้าและเงินบาทที่แข็งค่า รวมถึงการลงทุนโดยรวมที่โตต่ำกว่าประเมิน และยังมีปัจจัยความล่าช้าของการประกาศใช้ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2562 ลงจากเดิมที่ 2.8% มาที่ 2.5%
ขณะที่ภาคการส่งออกคาดว่าจะหดตัวต่อเนื่องจากปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน ไม่น่าจะสามารถบรรลุข้อตกลงได้ในอนาคตอันใกล้ และเงินบาทยังคงมีทิศทางแข็งค่า โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 ที่คาดว่าเฟดจะลดดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติม ซึ่งจะกดดันให้เงินดอลลาร์ฯ ยังอ่อนค่า
ขณะเดียวกัน นางสาว เกวลิน หวังพิชญสุข ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด มองว่า เงินบาทมีค่าเฉลี่ยรายปีที่แข็งค่ากว่าในปี 2562 นั้น นอกจากจะกระทบภาคส่งออกแล้ว จะส่งผลตามมาให้ภาคการผลิตหดตัวหรือลดกำลังการผลิตลง จนกระทบการจ้างงาน โดยในเบื้องต้นประมาณว่าการจ้างงานในภาคการผลิตจะได้รับผลกระทบเพิ่มเติมอีกกว่า 30,000 ตำแหน่ง จากปี 2562 ที่หายไปใกล้ 100,000 ตำแหน่ง ส่วนธุรกิจท่องเที่ยวถึงแม้ยังคงพอไปได้แต่ชะลอตัวลงมาที่ประมาณ 2-3% จากที่ประมาณการไว้ว่าจะขยายตัวราว 4% ในปี 2562
สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานโดยอ้างนักวิเคราะห์หลายคนว่า ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าเพิ่มขึ้น 8.3% ในปี 2562 และถือว่าเป็นสกุลเงินแข็งค่ามากที่สุดของเอเชีย ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคการส่องออก และอาจจะมีผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวด้วย
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ธปท. ได้ออกมาตรการรับมือกับภาวะเงินบาทแข็งอย่างต่อเนื่อง เช่น การปรับลดดอกเบี้ยนโบบายลงถึงสองครั้งในปี 2562 โดยครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.25% หลังจากที่ปรับลดลงมาแล้วก่อนหน้านี้เมื่อเดือนพฤศจิกายน แต่ดูเหมือนว่าค่าเงินบาทจะยังแข็งค่าต่อไป
การออกมาตรการต่างๆ เพื่อรับมือกับค่าบาทแข็งของแบงก์ชาติอาจยังไม่เพียงพอ และการโทษปัจจัยภายนอกที่เป็นแรงกดดัน เช่น สงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่ปัญหาใหญ่ที่ควรจะแก้ให้ตรงจุดที่สุดค่าบาทแข็ง และรับมือกับภาวะเศรษฐกิจปีหน้าที่ท้าทาย ตามความเห็นของ นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นั้น ต้องมุ่งไปที่การแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างให้คนไทยส่วนใหญ่มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยอดีตขุนคลังจากพรรคประชาธิปัตย์ ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว Korn Chatikavanij เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2562 พยากรณ์ถึงเศรษฐกิจไทยในปี 2563 ว่า “สิ้นปีนี้เราพอสรุปได้ว่าปัญหาเศรษฐกิจปีหน้าท้าทายแน่นอน และการที่รัฐมนตรีแต่ละกระทรวง ต่างคิดเองทำเองอย่างขยันขันแข็งจะไม่ช่วยอะไรมากนักหากยุทธศาสตร์ไม่ชัดเจนและสอดคล้องกัน
“มีคนถามว่าที่บาทแข็งแสดงว่าเศรษฐกิจต้องดีไม่ใช่หรือ คำตอบคือไม่ใช่เสมอไป และตอนนี้ไม่ใช่แน่นอน - เหตุผลหลักที่บาทแข็งเป็นเพราะดุลบัญชีเดินสะพัดเราเกินดุลอย่างมาก ซึ่งล่าสุดเดือนพฤศจิกายนเราเกินดุล 3.4 พันล้านดอลลาร์ ทั้งๆ ที่การส่งออกติดลบกว่า 7% ซึ่งเป็นเพราะการนำเข้าเราลดลงมากกว่า คือกว่า 9% ซึ่งเป็นสัญญาณไม่ดี เพราะที่ลดหนักที่สุดคือการนำเข้าสินค้าทุนและวัตถุดิบ และก็สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ลดลงอย่างมาก โดยเฉพาะยานยนต์ลดลงกว่า 21% เทียบกับปีที่แล้ว การใช้กำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรมเราลดลงเหลือเพียง 63.2% ซึ่งตํ่ามาก และการบริโภคภายในประเทศก็ลดลง
“ที่น่าจะเป็นตัวช่วยเร็วๆ นี้คือการใช้เงินภาครัฐ เพราะปีนี้งบประมาณออกช้า จึงทำให้เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาการใช้งบรัฐลดลงเกือบ 30% จากปีก่อนหน้านี้! อาทิตย์หน้างบปี 63 ก็จะผ่านแล้วสถานการณ์น่าจะดีขึ้น แต่ปัญหาคืองบส่วนใหญ่เป็นงบรายจ่ายประจำ อิมแพคจริงๆ จึงค่อนข้างน้อย
“เราโทษเรื่องเศรษฐกิจโลก/สงครามการค้า ฯลฯ ได้ แต่เราต้องยอมรับว่าปัญหาทั้งหมดไม่เป็นเพียงเพราะเงื่อนไขจากภายนอก ถ้าเป็นเช่นนั้นประเทศอื่นก็ควรมีปัญหาเหมือนเรา แต่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของเราช้ากว่าเกือบทุกประเทศเพื่อนบ้านเรา ผมเชื่อว่าปัญหาเราเป็นปัญหาโครงสร้างที่ยังไม่มีใครแก้ไขจริงจัง โครงสร้างนี้ทำให้การพัฒนา อำนาจ และการเข้าถึงทรัพยากรกระจุกตัว คนไทยส่วนใหญ่ไม่มีส่วนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ต้องแก้ตรงนี้โดยเร็วครับ จึงจะเกิดการเปลี่ยนแปลง เกิดนวัตกรรม และเกิดการลงทุน ....”
ชำแหละปัญหาได้ตรงประเด็น โดนใจประชาชนคนไทยในยุคเศรษฐกิจตกสะเก็ดดำดิ่งกว่าเพื่อนบ้าน เป็นงานท้าทายที่สุดของรัฐบาล “ลุงตู่” ที่ต้องสู้กับ “วายร้ายตัวเก่า” คือปัญหาปากท้อง
และแน่นอนว่า “เจ้าภาพใหญ่” ย่อมหนีไม่พ้น “รัฐบาล” และ “ธนาคารแห่งประเทศไทย” จะต้องเร่งมือแก้เงื่อนตายก่อนที่สถานการณ์จะกู่ไม่กลับ เพราะผลกระทบในเรื่องนี้กินอาณาบริเวณกว้างกับทุกภาคส่วน
โดยเฉพาะ “ภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม” นอกจากจะต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดแล้ว ยังถึงเวลาที่จะปรับตัวเพื่อก้าวให้ทันความเปลี่ยนแปลงที่กำลังขับเคลื่อนจาก “อะนาล็อก” ไปสู่ “ดิจิตอล” เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว อาจได้รับผลกระทบอย่างคาดไม่ถึงก็เป็นได้