ภาคเอกชนมองไทยน่าลงทุนและท่องเที่ยวในสายตาต่างชาติ เชื่อยังมีโอกาสเติบโตต่อเนื่อง
นางจรีพร จารุกรสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท ดับเบิลเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวในงานสัมมนาประจำปี 2563 จัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ภายใต้หัวข้อ “เจาะอุตสาหกรรมเด่นขับเคลื่อนเศรษฐกิจปี 2020” โดยระบุว่า ภายใต้ปัจจัยผลกระทบ ไม่ว่าสงครามการค้าสหรัฐฯ กับจีน หรือปัญหาเงินบาทแข็งค่า ยังมองว่าประเทศไทยน่าลงทุนอย่างมาก ซึ่งสงครามการค้าจะยังไม่จบลงง่ายๆ แต่ไม่เป็นปัญหาหรือสร้างผลกระทบให้การค้าและการลงทุน แต่จะเป็นพลังขับเคลื่อนให้หลายประเทศ เช่น จีน ย้ายฐานการลงทุนมาประเทศต่างๆ ซึ่งจีนมองไทยเป็นประเทศที่น่าลงทุนอย่างมาก จึงต้องปรับตัวรองรับการย้ายฐานมาประเทศไทย โดยอุตสาหกรรมที่จีนและหลายประเทศมาลงทุนไทยเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมพลังงาน หรือแม้แต่ไทยกำลังจะมีการประมูล 5G
นางจรีพรกล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาไทยจะหลุดการลงทุนจากหลายประเทศ แต่หลังจากไทยรื้อฟื้นเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ทำให้หลายประเทศมองว่าน่าจะเข้ามาลงทุนอีอีซีมากสุด ที่สำคัญ จากการที่ได้ประเมินหลายประเทศไม่ได้มองว่าเป็นประเทศที่ไม่มีเสถียรภาพโดยเฉพาะปัญหาการเมือง เพราะดูได้ชัดเจนในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานักลงทุนจากหลายประเทศไม่มองว่าการเมืองไทยเป็นปัญหา เห็นได้ชัดจากแผนการเข้ามาลงทุนผ่านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แสดงให้เห็นว่าไทยน่าลงทุนมากที่สุด แต่คนไทยหรือผู้ประกอบการต้องเร่งปรับตัวขยายฐานการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาไทย จึงมองว่าแม้จีดีพีปีที่ผ่านมาจะเติบโตเพียงร้อยละ 2.8 แต่ปี 2563 จีดีพีจะเติบโตถึงร้อยละ 3 อีกทั้งแม้ไทยจะเจอปัญหาการแข็งค่าของเงินบาท ทำให้การค้าได้รับผลกระทบบ้าง แต่หลายกลุ่มอุตสาหกรรมยังมีแผนเดินหน้าการค้าการลงทุน
ทั้งนี้ มองว่าเศรษฐกิจไทยยังมีโอกาสเติบโต อย่ามองเหตุการณ์รายวัน ควรมองสถานการณ์ของไทยระยะยาว ซึ่งในอนาคตไทยไม่เพียงทำการค้าในกลุ่มอาเซียน หากความร่วมมือภายใต้กรอบอาเซ็ปเกิดขึ้นการค้าและการลงทุนของไทยจะเพิ่มขึ้นมหาศาล และปี 2563 หลายโครงการที่ไทยวางกรอบไว้จะเดินหน้าเต็มที่ หลังจากงบประมาณปี 2563 ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร และปีนี้แผนการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ต่างๆ จะเกิดขึ้นตามมา ทำให้ไทยมีอัตราการเติบโตดีขึ้นและแข็งแกร่งแน่นอน
นายชัยรัตน์ ไตรรัตนจรัสพร ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ไทยยังเป็นประเทศที่นักลงทุนให้ความสนใจ เห็นได้จาก 10 ปีที่ผ่านมานักท่องเที่ยวทั่วโลกเข้ามาในประเทศไทยแต่ละปีมากเกือบ 40 ล้านคน แม้ปีที่ผ่านมาทั่วโลกจะประสบปัญหาเศรษฐกิจ แต่การท่องเที่ยวของไทยยังไม่ได้รับผลกระทบมากมาย ซึ่งปี 2562 นักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวไทยมากถึง 39 ล้านคน รายได้มากกว่า 1.9 ล้านล้านบาท ต่ำกว่าที่คาดการณ์ว่าปี 2562 จะมีนักท่องเที่ยว 40 ล้านคน รายได้มากกว่า 2 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้นักท่องเที่ยวจีนมากถึง 11 ล้านคน ดังนั้น จึงเชื่อมั่นว่าไทยยังเป็นประเทศที่น่าเข้ามาท่องเที่ยว แต่สิ่งที่คนไทยต้องเร่งปรับตัว คือ การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้มีมาตรฐานและไม่ควรเอาเปรียบ การสร้างมาตรฐานการให้บริการ การใช้ความเป็นเสน่ห์ของคนไทย จุดแข็งอาหารไทย การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวไทยให้เป็นมาตรฐานมากขึ้น หากคนไทยช่วยกันรักษาเชื่อว่าอีก 10 ปีข้างหน้านักท่องเที่ยวจากทั่วโลกจะมาท่องเที่ยวไทยมากถึง 60 ล้านคน ซึ่งปีนี้ได้มีการประเมินว่าจะมีคนจากทั่วโลกเข้ามาท่องเที่ยวไทยไม่ต่ำกว่า 41 ล้านคน หรือรายได้มากกว่า 2.1 ล้านล้านบาท การที่นักท่องเที่ยวพากันมาเที่ยวไทยมากขึ้น จากเดิมท่องเที่ยวแบบทัวร์ แต่ปัจจุบันส่วนใหญ่ท่องเที่ยวแบบครอบครัวมากันเอง ดังนั้น ไทยต้องเร่งปรับตัวรองรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กล่าวว่า ภาคเอกชนยังมีความกังวลสงครามการค้าสหรัฐฯ กับจีนเพราะไม่รู้ปีนี้จะจบอย่างไร ถ้าจบลงด้วยดีน่าจะทำให้การค้าจากทั่วโลกมีโอกาสเติบโตได้ ซึ่งปีนี้ตั้งเป้ากลุ่มอุตสาหกรรมอาหารไทยจะเติบโตไม่น้อยกว่าร้อยละ 2.5 ถ้าสงครามสหรัฐฯ กับจีนจบด้วยดี โอกาสอุตสาหกรรมเติบโตก็มีมาก อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมอาหารสำเร็จรูปของไทยยังเป็นที่ต้องการของคนทั่วโลกโดยเฉพาะอาหารแปรรูป ขณะเดียวกัน ไทยต้องเร่งปรับปรุงคุณภาพอาหาร โดยเฉพาะอาหารสำเร็จรูปด้านสุขภาพ เพราะระยะหลังอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารเติบโตได้ดีคนทั่วโลกหันไปดูแลสุขภาพมากขึ้น ซึ่งในส่วนของภาคเอกชนอยู่ระหว่างหารือกับกระทรวงพาณิชย์หาหนทางว่าจะมีการต่อยอดอาหารไทยลักษณะเป็นสตอรีให้คนทั่วโลกรู้คุณค่าอาหารไทยว่าอาหารไทยเกิดขึ้นได้อย่างไร หากมีการจัดทำเป็นสตอรีจะทำให้คนทั่วโลกรู้ถึงคุณค่าของอาหารไทยมากขึ้น เร็วๆ นี้คาดว่าจะทำเป็นสตอรีอาหารไทยบางชนิด แต่สิ่งที่กังวลปีนี้คือ ปัญหาภัยแล้ง อาจทำให้พืชบางชนิด เช่น ข้าวประสบปัญหา ประกอบกับข้าวไทยมีคู่แข่งมากมาย ราคาแพงกว่าประเทศอื่น หน่วยงานภาครัฐจะต้องเข้ามาดูแลปัญหาเหล่านี้มากขึ้น