xs
xsm
sm
md
lg

“วีรศักดิ์” สั่งทำแผนผลิต-ตลาดสินค้า GI รับความต้องการพุ่งทั้งใน และต่างประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“วีรศักดิ์” มอบกรมทรัพย์สินทางปัญญาลงพื้นที่หารือเกษตรกร ผู้ผลิตสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ทำแผนการผลิตและการตลาดร่วมกัน หลังพบปัญหาสินค้ามีไม่เพียงพอต่อความต้องการ จากการที่สินค้าเริ่มเป็นที่รู้จักและมีความต้องการเพิ่มขึ้นทั้งตลาดใน และต่างประเทศ

นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาลงพื้นที่หารือกับเกษตรกร ผู้ผลิตสินค้าที่ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ทั่วประเทศที่มีอยู่ประมาณ 5,000-10,000 ราย เพื่อร่วมกันทำแผนด้านการผลิตและการตลาด เพราะที่ผ่านมาการทำตลาดสินค้า GI หลายชนิดประสบปัญหาการขาดแคลนสินค้า และสินค้าไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด จึงต้องวางแผนร่วมกันตั้งแต่การผลิต ไปจนถึงการทำตลาดทั้งในประเทศ และส่งออก

“เท่าที่ทราบมีผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้า GI ที่ขึ้นทะเบียนกว่า 2,000 ราย แต่ตัวเลขที่แท้จริงน่าจะเป็น 5,000-10,000 ราย จึงต้องมีการวางแผนร่วมกันเพื่อสร้างความสมดุลของสินค้า และประเมินความต้องการของตลาด เพราะขณะนี้กรมทรัพย์สินทางปัญญากำลังเดินหน้าประชาสัมพันธ์สินค้า GI ซึ่งเป็นสินค้าคุณภาพ เป็นของดี ของหายากของชุมชน ทำให้มีความต้องการเพิ่มขึ้น ทั้งตลาดในประเทศ และตลาดส่งออก ซึ่งในส่วนของการส่งออกจะทำควบคู่ไปกับการผลักดันให้มีการจดทะเบียนคุ้มครอง GI ในต่างประเทศด้วย” นายวีรศักดิ์กล่าว

นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีสินค้า GI ที่ขึ้นทะเบียนแล้วทั้งสิ้น 126 รายการ จาก 76 จังหวัดทั่วประเทศ ล่าสุดเป็นหอมแดงศรีสะเกษและกระเทียมศรีสะเกษ โดยมีมูลค่าทางการตลาดที่เกิดขึ้นกับชุมชนและท้องถิ่นกว่า 5,300 ล้านบาท ซึ่งกรมฯ จะเข้าไปช่วยพัฒนาสินค้า วางแผนการผลิต การทำตลาด ที่สอดคล้องกับความต้องการ เพราะที่ผ่านมาเจอปัญหาสินค้ามีไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค หลังจากที่กรมฯ ได้ลงพื้นที่พัฒนาและช่วยวางแผนทำตลาดทั้งการนำออกงานจำหน่าย นำไปจำหน่ายในห้างสรรพสินค้า และนำเข้าร่วมงานแสดงสินค้า จนมียอดขายเพิ่มขึ้นอย่างมากและสินค้าก็มีไม่เพียงพอ จึงต้องผลักดันให้มีปริมาณเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ กรมฯ ยังมีแผนที่จะช่วยจัดทำระบบควบคุมคุณภาพสินค้า GI เพื่อให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ถึงแหล่งผลิต เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่สินค้า GI การพัฒนาบรรจุภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า การเพิ่มช่องทางการตลาดด้วยการแนะนำสินค้า GI ที่มีศักยภาพ 3 ภาษา ซึ่งได้นำร่องไปแล้ว 4 สินค้า ได้แก่ ทุเรียนปราจีนบุรี มะพร้าวน้ำหอมราชบุรี ลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูน และทุเรียนป่าละอู และการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายในประเทศ เช่น การจัดให้มีมุมสินค้า GI ในท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต และเซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์ การนำเข้าร่วมงาน GI Market 2020 และงานแสดงสินค้าต่างๆ เพื่อเปิดตัวสินค้า GI ออกสู่ตลาดต่างประเทศ


กำลังโหลดความคิดเห็น