กรมทรัพย์สินทางปัญญาเผยเตรียมทำ VTR โปรโมตสินค้า GI ไทย “ทุเรียนปราจีน-มะพร้าวน้ำหอมราชบุรี-ลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูน-ทุเรียนป่าละอู” 3 ภาษา หวังสร้างภาพลักษณ์ให้กับสินค้าในสายตาผู้ซื้อ ผู้นำเข้า พร้อมเร่งพีอาร์ทุกช่องทาง ทำให้คนรู้จักสินค้า GI เพิ่มขึ้น และบริโภคมากขึ้น
นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า กรมฯ มีแผนที่จะประชาสัมพันธ์สินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ของไทยให้เป็นเชิงลึกและเฉพาะเจาะจงมากขึ้น โดยมีแผนที่จะจัดทำ VTR สินค้า GI ไทยที่มีศักยภาพในการทำตลาดในรูปแบบ 3 ภาษา คือ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาจีน เบื้องต้นจะนำร่องก่อนจำนวน 4 สินค้า ได้แก่ ทุเรียนปราจีนบุรี มะพร้าวน้ำหอมราชบุรี ลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูน และทุเรียนป่าละอู เพราะเป็นสินค้าที่เป็นที่รู้จัก และได้รับความนิยมทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ จึงต้องการสร้างภาพลักษณ์ให้กับสินค้าและเพิ่มโอกาสในการจำหน่ายสินค้าให้แก่เกษตรกรและผู้ผลิตสินค้าเพิ่มขึ้น
“ปัจจุบันทั้ง 4 รายการเป็นสินค้าที่เป็นที่นิยมทั้งตลาดในประเทศ และต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดจีน และมีแนวโน้มที่จะส่งออกไปยังตลาดอื่นๆ ได้เพิ่มขึ้น จึงต้องเร่งโปรโมตให้เป็นที่รู้จัก หากสินค้าเป็นที่รู้จักมากขึ้นก็จะยิ่งช่วยเพิ่มโอกาสในการทำตลาด และเพิ่มรายได้ให้ผู้ผลิตและเกษตรกรของไทย ทำให้มีส่วนช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากเพิ่มขึ้น” นายทศพลกล่าว
นายทศพลกล่าวว่า กรมฯ ยังจะเดินหน้าประชาสัมพันธ์สินค้า GI เชิงรุกมากยิ่งขึ้น เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจให้แก่ผู้บริโภคถึงจุดเด่นของสินค้า GI แต่ละชนิด ที่มาที่ไปของสินค้า GI และทำไมสินค้า GI ถึงแตกต่างจากสินค้าทั่วไป และยังเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับสินค้า GI ทำให้ในที่สุดจะมีการบริโภคสินค้า GI เพิ่มมากขึ้น โดยตามแผนจะมีการประชาสัมพันธ์ทั้งผ่านสื่อโทรทัศน์ วิทยุ สื่อออนไลน์ รวมถึงการลงพื้นที่ร่วมกับสื่อมวลชนไปดูสถานที่จริง เช่น ญอกมละบริน่าน และเกลือสินเธาว์บ่อเกลือน่าน เป็นต้น
สำหรับการแนะนำสินค้า GI ในปีนี้จะเน้นประมาณ 10 สินค้า ได้แก่ 1. ผ้าไหมปักธงชัย 2. มังคุดคีรีวง 3. ผ้าไหมเก็บบ้านเมืองหลวง 4. ทุเรียนในวงระนอง 5. ศิลาดลเชียงใหม่ 6. ส้มโอนครชัยศรี 7. ปลาแรดลุ่มน้ำสะแกกรังอุทัยธานี 8. ลิ้นจี่บางขุนเทียน และส้มบางมด 9. ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง และปลาดุกร้าทะเลน้อยพัทลุง และ 10. มะม่วงน้ำดอกไม้คุ้งบางกระเจ้า
นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะลงพื้นที่แหล่งผลิตสินค้า GI และจัดประชุมทำความรู้ความเข้าใจแนวทางพัฒนาสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ให้แก่ชุมชน การเข้าไปช่วยพัฒนาผู้เกี่ยวข้องในแวดวง GI ไทยให้มีความรู้ความสามารถในการผลักดันสินค้า GI ไทยให้เกิดการจำหน่ายในมูลค่าที่เพิ่มสูงขึ้น และการเข้าร่วมการประชุมเกี่ยวกับ GI ในเวทีนานาชาติ เพื่อเพิ่มพูนความรู้ด้านการคุ้มครองและพัฒนา GI ในระดับประเทศเพื่อนำมาพัฒนาระบบ GI ของประเทศไทย