xs
xsm
sm
md
lg

กลุ่มผู้ปลูกมะพร้าวอินทรีย์ “ทับสะแก” โชว์นวัตกรรมแปรรูป “ผงชงพร้อมดื่ม”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สถาบันอาหาร-สสว.สนับสนุนกลุ่มเครือข่ายมะพร้าวอินทรีย์ ทับสะแก แปรรูปน้ำมะพร้าวผลแก่เป็น “ผงชงพร้อมดื่ม” ชูจุดเด่นเกลือแร่ต่างๆ ปริมาณสูง เจาะกลุ่มผู้เสียเหงื่อ และนักกีฬา ระยะยาวตั้งเป้าพัฒนากระบวนการผลิตให้ได้มาตรฐาน GMP และ HALAL เพื่อการส่งออก

นางนิตยา พิระภัทรุ่งสุริยา รองผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม เผยความคืบหน้าการดำเนินงานตามที่ได้รับมอบหมายจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ภายใต้โครงการสนับสนุนเครือข่าย SME ปี 2561 ในกลุ่มอุตสาหกรรมมะพร้าวและกล้วยว่า ขณะนี้กลุ่มเครือข่ายต่างๆ โดยผู้นำเครือข่ายและผู้ประสานงานเครือข่าย(CDA) ของแต่ละกลุ่ม อยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำแผนพัฒนาเครือข่ายเพื่อเป็นยุทธศาสตร์ใช้ในการวางแผนพัฒนาและสนับสนุนการดำเนินงานของเครือข่ายให้ครบ 17 แผน มีจำนวน CDA รวมทั้งสิ้น 54 คน จากกลุ่มมะพร้าว 33 คน และจากกลุ่มกล้วย 21 คน

โดยมีสมาชิกจากกลุ่มเครือข่ายมะพร้าว 10 กลุ่มทั่วประเทศ ได้แก่ 1) ทับสะแก 2) บางสะพานน้อย 3) พะงัน 4) ชุมพร (มะพร้าวสองเล) 5) สมุทรสงคราม สมุทรสาคร เพชรบุรี (สสพ.มะพร้าว) 6) สระบุรี ฉะเชิงเทรา นครนายก (มะพร้าวมิตรภาพ) 7) ราชบุรี สามร้อยยอด กรุงเทพฯ 8) หนองคาย เลย นครสวรรค์ ร้อยเอ็ด 9) นครปฐม (มะพร้าวน้ำหอมสามพราน) และ 10) ปราจีนบุรี ส่วนกลุ่มเครือข่ายกล้วย 7 กลุ่ม ได้แก่ 1) สกลนคร 2) กาญจนบุรี (กล้วยกาญจ์) 3) ปทุมธานี 4) กำแพงเพชร พิจิตร นครสวรรค์ สุโขทัย อุทัยธานี พิษณุโลก ตาก 5) มหาสารคาม 6) ปัตตานี และ 7) ชุมพร

“ล่าสุดกลุ่มเครือข่ายมะพร้าวทับสะแก พื้นที่ที่มีผลผลิตมะพร้าวแกงเป็นหลัก ได้สรุปแผนยุทธศาสตร์ของกลุ่มเครือข่ายว่า ในระยะกลางและระยะยาวจะเน้นส่งเสริมการปลูกมะพร้าวให้เป็นการปลูกแบบอินทรีย์ (Organic) โดยจะนำผลผลิตมะพร้าวมาสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์แปรรูปให้ได้มากที่สุด และเกิดประโยชน์สูงสุดกับสมาชิก เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทดแทนการสูญเสียจากสถานการณ์แมลงศัตรูพืชระบาด ทั้งนี้จะนำน้ำมะพร้าวแก่สด มาแปรรูปเป็น “ผงชงพร้อมดื่ม” ด้วยเห็นว่าคุณค่าของน้ำมะพร้าวแก่นั้นมีเกลือแร่ต่างๆในปริมาณสูง เช่น โพแทสเซียม ซึ่งเหมาะกับผู้ที่เสียเหงื่อ และนักกีฬา

โดยมีกลุ่มเป้าหมายทางการตลาดชัดเจน และจะพัฒนากระบวนการผลิตให้ได้มาตรฐาน GMP และ HALAL สร้างช่องทางการตลาดเพื่อการส่งออกต่อไป ส่วนแผนระยะสั้นทางกลุ่มได้ให้การสนับสนุนจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ในการขอขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์(GI) ให้กับมะพร้าวทับสะแก ซึ่งถือเป็นแหล่งเพาะปลูกมะพร้าวแกงที่มีคุณภาพ มีความโดดเด่นเฉพาะตัว คือ เนื้อหนา กะลาบาง ผลใหญ่ ผลดก และมีความมันของกะทิสูงกว่ามะพร้าวจากแหล่งอื่น เพื่อควบคุมคุณภาพการผลิต และช่วยเพิ่มมูลค่าทางการค้า”
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น