กรมทรัพย์สินทางปัญญาจับมือจังหวัดนครนายกจัดงาน “มะยงชิด มะปรางหวาน ของดีนครนายก ประจำปี 2563” ช่วยโปรโมตสินค้า GI ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น และช่วยเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรผู้ผลิต คาดปีนี้จะมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท ผู้ว่าฯ เร่งส่งเสริมเกษตรกรเข้าสู่ระบบการควบคุมมาตรฐานและผลักดันขอใช้ตรา GI เพิ่มขึ้น หวังคุมคุณภาพและป้องกันการปลอมตรา GI
นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ร่วมกับจังหวัดนครนายก หน่วยงานท้องถิ่นจัดงาน “มะยงชิด มะปรางหวาน ของดีนครนายก ประจำปี 2563” ณ บริเวณสี่แยกช้าง อ.เมือง จ.นครนายก เพื่อส่งเสริมการตลาดให้กับมะยงชิดนครนายกและมะปรางหวาน ซึ่งเป็นผลไม้ขึ้นชื่อของจังหวัดที่มีคุณภาพและเอกลักษณ์โดดเด่นจนได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ตั้งแต่วันที่ 31 มี.ค. 2559 และประชาสัมพันธ์ให้สินค้าเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรผู้ปลูกมีรายได้เพิ่มขึ้น และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับฐานราก
“ถือเป็นเรื่องน่ายินดีที่ปีนี้สภาพภูมิอากาศเอื้อต่อการปลูกมะยงชิดนครนายกและมะปรางหวานนครนายก ทำให้ผลผลิตมีปริมาณมากและมีคุณภาพตามมาตรฐานสินค้า GI โดยมะยงชิดนครนายกที่นำมาจัดแสดงและจำหน่ายภายในงานมีลักษณะเด่น คือ มีผลใหญ่รูปไข่ เนื้อแน่น กรอบ มีกลิ่นหอม และรสชาติหวานอมเปรี้ยว ส่วนมะปรางหวานนครนายกมีผลใหญ่ยาวรี เปลือกบาง มีกลิ่นหอม และรสชาติหวานกรอบ ซึ่งทางจังหวัดคาดว่าปีนี้จะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตโดยรวมได้ประมาณ 400 ตัน เพียงพอต่อความต้องการของตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ และคาดว่าจะสามารถสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรในชุมชนกว่า 100 ล้านบาท” นายทศพลกล่าว
อย่างไรก็ตาม กรมฯ ขอฝากไปถึงพี่น้องเกษตรกรชาวสวนมะยงชิดนครนายกและมะปรางหวานนครนายกทุกท่าน ให้รักษาคุณภาพการผลิตสินค้าให้ปลอดภัยและได้มาตรฐาน GI เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคตลอดจนเครือข่ายการตลาดที่นำสินค้าไปจำหน่าย
นายณัฐพงศ์ ศิริชนะ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายก กล่าวว่า ปัจจุบันผลผลิตมะยงชิดนครนายกและมะปรางหวานนครนายกกำลังเป็นที่ต้องการของตลาด ทางจังหวัดจึงเร่งส่งเสริมให้เกษตรกรผู้ผลิตที่ยังไม่เข้าสู่ระบบการควบคุมมาตรฐาน GI ได้ทำเรื่องขออนุญาตใช้ตราสัญลักษณ์ GI เพิ่มขึ้น เพื่อเป็นการควบคุมคุณภาพการผลิตสินค้าทั้งสองประเภทให้ได้มาตรฐาน และยังช่วยป้องกันการปลอมปนและแอบอ้างใช้ตราสัญลักษณ์ GI เพื่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของเกษตรกรในท้องถิ่นให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน