เงินเฟ้อ มิ.ย. 63 ลด 1.57% ติดลบ 4 ติดต่อกัน เผยลบในอัตราที่น้อยลง เหตุมาตรการของรัฐที่ปรับลดค่าไฟฟ้า น้ำประปา สิ้นสุดลง ราคาสินค้าบางส่วนปรับสูงขึ้น แต่ยังมีแรงฉุดจากน้ำมัน อาหารสดที่ลดลง และมาตรการลดราคาสินค้ายังคงอยู่ ย้ำเงินไม่ฝืด สินค้าเคลื่อนไหวปกติ คาดครึ่งปีหลังยังอยู่ในแดนลบ ปรับคาดการณ์ทั้งปีใหม่เป็นลบ 1.5% ถึงลบ 0.7% ค่ากลางลบ 1.1%
น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือน มิ.ย. 2563 ลดลง 1.57% ถือว่าปรับตัวดีขึ้นจากเดือน พ.ค. 2563 ที่ลดลง 3.44% โดยสาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อลดลงในอัตราที่น้อยลง มาจากมาตรการรัฐที่ช่วยเหลือด้านค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปาสิ้นสุดลง และราคาสินค้าส่วนใหญ่เคลื่อนไหวในทิศทางที่ดีขึ้น แต่เงินเฟ้อก็ยังได้รับแรงฉุดจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง รวมถึงราคาอาหารสดที่ปรับตัวลดลง จึงทำให้เงินเฟ้อยังคงติดลบ ส่วนเงินเฟ้อเฉลี่ย 6 เดือนปี 2563 (ม.ค.-มิ.ย.) ลดลง 1.13%
“เงินเฟ้อขยายตัวติดลบ 1.57% ทางเทคนิคเป็นเงินฝืด เพราะติดลบติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 แล้ว แต่ไม่ได้ฝืดจริง เพราะราคาสินค้ายังมีการเคลื่อนไหวเป็นปกติ หลายรายการมีการปรับตัวสูงขึ้น เศรษฐกิจก็ไม่ได้ฝืดเคือง ข้าวของ มีกิน มีใช้ ส่วนที่เงินเฟ้อลดลง เพราะมีปัจจัยตัวอื่นมาฉุด ทั้งน้ำมัน มาตรการพาณิชย์ที่ร่วมมือกับผู้ผลิตลดราคาสินค้า ที่ยังคงอยู่ ทำให้เงินเฟ้อไม่ขึ้น”
อย่างไรก็ตาม เงินเฟ้อพื้นฐานที่หักสินค้ากลุ่มอาหารสดและพลังงานออก ลดลง 0.05% ถือว่าติดลบครั้งแรกในรอบ 10 ปี 8 เดือน แต่ก็ไม่น่ากังวล ถือว่าเหมาะสมกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน ที่ชะลอตัวและได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19
น.ส.พิมพ์ชนกกล่าวว่า แนวโน้มเงินเฟ้อครึ่งปีหลังจะปรับตัวดีขึ้น แต่ยังไม่ฟื้นตัวดี จะฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป เพราะยังมีปัจจัยกดดันจากโควิด-19 ทำให้กำลังซื้อ การจับจ่ายใช้สอยของประชาชนมีการระมัดระวังมากขึ้น โดยเงินเฟ้อน่าจะอยู่ในแดนลบ ทำให้ต้องปรับคาดการณ์เงินเฟ้อทั้งปีใหม่ จากเดิมลบ 1.0% ถึงลบ 0.2% ค่ากลางลบ 0.6% เป็นติดลบ 1.5% ถึงลบ 0.7% ค่ากลางลบ 1.1%
“เงินเฟ้อแม้จะอยู่ในแดนลบ แต่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้น เพราะขณะนี้เงินกู้ฟื้นฟูเศรษฐกิจ 4 แสนล้านบาท กำลังจะออกมาซึ่งจะทำให้เกิดแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ และจากนั้นจะเป็นงบประมาณปี 2563/64 ที่จะตามมาอีก ถือเป็น 2 ก๊อกที่จะช่วยประคับประคองเศรษฐกิจให้ฟื้นตัว และยังมีมาตรการบรรเทาผลกระทบที่รัฐบาลกำลังพิจารณาช่วยเหลืออีกก็จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทย ทำให้เงินเฟ้อขยับขึ้น แต่ไม่อยากให้เงินเฟ้อขึ้นเร็วเกินไป เพราะยังมีโควิด-19 ประชาชนจะกระทบ แต่ถ้าไม่ขึ้นเลย ผู้ผลิตก็กระทบ ขึ้นแบบค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไปดีกว่า” น.ส.พิมพ์ชนกกล่าว