เงินเฟ้อเดือน มี.ค. 63 ลดลง 0.54% ติดลบครั้งแรกรอบ 33 เดือน ต่ำสุดรอบ 51 เดือน เหตุน้ำมันลดเดือนเดียว 11 ครั้ง แถมเจอผลกระทบโควิด-19 ทำการบริโภคลด ยันไม่ใช่ภาวะเงินฝืด เผยปรับเป้าเงินเฟ้อทั้งปีใหม่ติดลบ 0.2% ถึงลบ 1% ค่ากลางลบ 0.6% ระบุหากกรณีเลวร้ายลบ 1% จะติดลบมากที่สุดในประวัติศาสตร์
น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ หรือเงินเฟ้อ เดือน มี.ค. 2563 ลดลง 0.54% หรือติดลบเป็นครั้งแรกในรอบ 33 เดือน และเป็นอัตราต่ำสุดในรอบ 51 เดือน ส่วนเงินเฟ้อเฉลี่ย 3 เดือนของปี 2563 (ม.ค.-มี.ค.) เพิ่มขึ้น 0.41% ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานที่หักสินค้ากลุ่มอาหารสดและน้ำมันออก ลดลง 3.37% และเฉลี่ย 3 เดือน เพิ่มขึ้น 0.53%
ทั้งนี้ สาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อลดลงมาจากการลดลงของกลุ่มน้ำมัน 11.14% ต่ำสุดในรอบ 48 เดือน หรือเฉพาะเดือนนี้ปรับตัวลดลงถึง 11 ครั้ง ส่วนกลุ่มอาหารสดเพิ่มขึ้น 2.46% แต่เป็นอัตราต่ำสุดในรอบปี เป็นผลจากความต้องการบริโภคสินค้าลดลงจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 และการบริโภคยังลดลงตามจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลง การปิดให้บริการของร้านค้า และการปิดภาคเรียน
“เงินเฟ้อที่ติดลบมาจากปัจจัยเรื่องน้ำมันที่ลดลงเยอะมาก เลยเป็นตัวฉุดเงินเฟ้อ โดยสินค้ารายการอื่นๆ ยังคงเพิ่มขึ้น และหากดูดัชนีเงินเฟ้อพื้นฐานที่หักน้ำมันและอาหารออก เงินเฟ้อก็ยังเป็นบวกอยู่ แต่ความต้องการสินค้า และกำลังซื้ออาจจะชะลอตัวบ้างในช่วงโควิด-19 และไม่ได้หดตัวมากขนาดที่เรียกว่าเข้าสู่ภาวะเงินฝืด” น.ส.พิมพ์ชนกกล่าว
น.ส.พิมพ์ชนกกล่าวว่า ปัจจุบันธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ปรับลดจีดีพีเป็นติดลบ 5.8% และหน่วยงานอื่นก็มีการปรับคาดการณ์จีดีพีเป็นติดลบเกือบ 6% จากผลกระทบของไวรัสโควิด-19 ที่มีผลต่อเศรษฐกิจไทย โดย สนค.ได้ทำการทบทวนคาดการณ์เงินเฟ้อทั้งปี 2563 ใหม่ เป็นขยายตัวติดลบ 0.2 ถึงลบ 1% โดยมีค่ากลางติดลบที่ 0.6% ซึ่งเป็นการติดลบครั้งแรกรอบ 5 ปี นับตั้งแต่ปี 2558 ภายใต้สมมติฐาน คือ จีดีพีติดลบ 4.8-5.8% น้ำมันดิบตลาดดูไบ 35-45 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยน 30.5-32.5 บาทต่อเหรียญสหรัฐ แต่ในกรณีเลวร้าย คือเงินเฟ้อติดลบ 1% จะถือเป็นการติดลบมากสุดเป็นประวัติการณ์
อย่างไรก็ตาม สนค.เห็นว่าขณะนี้ราคาน้ำมัน ซึ่งเป็นต้นทุนในการผลิตสินค้าและค่าขนส่งได้ปรับลดลงมาอย่างต่อเนื่อง 2-3 เดือนแล้ว และน่าจะเป็นเหตุผลให้ผู้ผลิต หรือผู้ให้บริการด้านการขนส่งปรับลดราคาสินค้าและค่าขนส่งลงมาเพื่อดูแลผู้บริโภคและช่วยเหลือประชาชน เพราะตอนที่น้ำมันขึ้นราคาก็มีการปรับขึ้นราคาในทันที แต่พอน้ำมันลดกลับไม่ยอมลดราคาลงตาม